วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

Spice up your English with Laura... # 8 – "Happy Birthday To You"

โดยฝ่ายบุคคล

ช่วงนี้หาความแน่นอนในชีวิตมิได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์บ้านเมืองที่ร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ หรือสภาพอากาศที่แปรปรวนเหลือหลาย อิฉันเองอุตส่าห์กระหยิ่มยิ้มย่องแพ็คกระเป๋าไปเที่ยวเกาะทางภาคใต้ กะว่าจะนอนแอบแดด สูดโอโซนให้เต็มปอด ปรากฏว่าฝนดั๊นตก ตกแล้วก็ตกอีก ในใจก็ภาวนา "พระเจ้าขาช่วยลูกช้างด้วยเถิด ขอให้ฝนหยุดตกซะทีเถอะค่า" ยังไม่ทันขาดคำ .... กลับกระหน่ำหนักกว่าเดิม .... แถมฟ้าร้องฟ้าแลบตามอีกสามชุดใหญ่ อูยยยยย กลัวแล้วเจ้าค่าาาา T_T
เอาเป็นว่าเพื่อความผ่อนคลาย Spice up your English with Laura ... ในตอนนี้ขอนำเสนอเรื่องเบา ๆ ใกล้ตัวโดยใช้ชื่อตอนว่า "Happy Birthday To You" จะว่าไปแทบไม่มีใครร้องเพลง "Happy Birthday To You" ไม่ได้ เพราะมันได้กลมกลืนกลายเป็นประเพณีหนึ่งของเราไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในแง่การซึมซับวัฒนธรรมของชาวตะวันตกมาใช้ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเรายังร้องเพลงนี้กันไม่ถูกต้อง เนื้อร้องที่เราคุ้นเคยและร้องประจำก็คือ

Happy birthday to you,

Happy birthday to you,

Happy birthday to you, happy birthday,

Happy birthday to you.

คือเราจะร้องซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ แบบลอกเค้ามาไม่หมด มีใครเคยร้องเพลงนี้ร่วมกับฝรั่งไหมคะ ?? ร้องไปสองท่อนแรกไม่มีปัญหาแต่ท่อนสามเริ่มวงแตก ฝรั่งแขกเค้าร้องไม่เหมือนเรา เพราะเนื้อร้องที่ถูกต้องคือ

Happy birthday to you,

Happy birthday to you,

Happy birthday dear ...... (dear แปลว่า ผู้ที่เรารัก ตามด้วยชื่อของผู้ที่ครบรอบวันเกิด เช่น Happy birthday dear Irynne)

Happy birthday to you.

การเติมชื่อเจ้าของวันเกิดทำให้เค้ารู้สึกว่าสำคัญ บรรยากาศอบอุ่น น่ารักขึ้น ที่สำคัญคือเป็นเนื้อร้องที่ถูกต้องค่ะ เด็กฝรั่งบางคนชอบร้องเพลงนี้ด้วยเนื้อหากวน ๆ ดังนี้

Happy birthday to you, สุขสันต์วันเกิด

You live in a zoo, เธออาศัยอยู่ในสวนสัตว์

You look like a monkey. หน้าตาเธอเหมือนลิง

And you smell like one too. กลิ่นเธอก็เหมือนกัน

อีกประเด็นหนึ่งก็คือคำว่า birthday กับ anniversary มีความแตกต่างกัน birthday แปลว่า วันครบรอบวันเกิด ส่วน anniversary แปลว่า วันครบรอบของเหตุการณ์ในอดีต ตัวอย่างเช่น

· Today is Natalie's 18th birthday. (วันนี้เป็นวันเกิดครบ 18 ปีของนาตาลี)

· It's our company's 5th anniversary today. (วันนี้บริษัทของเราฉลองครบรอบ 5 ปี)

ท้ายนี้ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่เราได้ฝึกออกเสียง TH โดยการแลบลิ้น และกัดเบา ๆ ก่อนพ่นลมออกมาแล้ว มาลองวิชาโดยการอ่านคำว่า birthday อย่างถูกต้อง เพื่อให้คนฟังเข้าใจว่าเราพูดถึงวันเกิด - birthday มิใช่วันนก - birdday ดังนั้นกรุณาออกเสียงว่า bir - แลบลิ้นออกมา - day. เก่งมาก!!!

สรุปว่า ฉลองวันเกิดคราวต่อไป อย่าลืมใส่ชื่อเจ้าของวันเกิดตอนร้องเพลง Happy Birthday To You นะคะ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ
อ่านบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

การบริหารความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Conflict)

พูดถึงความขัดแย้ง โดยทั่วไปเราคงต้องนึกถึงสิ่งต่างๆที่ส่งผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ของผู้ที่ขัดแย้ง ถ้าเลือกได้คนทั่วไปคงต้องพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น แต่เชื่อเถอะว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรอก แล้วก่อนที่เราจะบอกว่าเราขัดแย้งกับใคร เราก็ควรจะเข้าใจว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อย่างไรก่อน

ความขัดแย้งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นตอน ๆ ในแต่ละตอนจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามลำดับ ความขัดแย้งมักเกิดจาก “ ความคับข้องใจ ” ของฝ่ายหนึ่งที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งกระทำ การกระทำที่ก่อให้เกิดความคับข้องใจดังกล่าว เช่น ไม่เห็นด้วย ไม่ช่วยเหลือ ดูถูก เอาเปรียบ ให้ร้าย เสียศักดิ์ศรี ฯลฯ ดังนั้น ต่างฝ่ายจึงต่างพยายามหาหลักฐานหรือเหตุผลเพื่อมาสนับสนุนความถูกต้องของตนเอง และหาทางออกด้วยวิธีการเอาแพ้เอาชนะมากกว่าอย่างอื่น จึงเกิดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหารูปแบบต่าง ๆ เช่น การเอาชนะ ต่อรอง ร่วมมือ หลีกเลี่ยง ผ่อนปรนเข้าหากัน เป็นต้น

แนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับ “ ความขัดแย้ง ” เรามักมองว่าความขัดแย้งเป็นอุปสรรคของการทำงานเสียเวลา คนที่มีความขัดแย้งจะถูกคนอื่นมองว่าเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย พวกแกะดำ ไม่มีสัมมาคารวะไม่ห่วงอนาคต แถมยังทำให้องค์กรไม่ก้าวหน้า เสียเวลาในการทำงาน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้คนเราจึงไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็นที่ขัดแย้ง เพราะกลัวภาพลักษณ์ของตนเองจะถูกคนอื่นมองในด้านลบ โดยมีความเชื่อว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

“ แนวคิดใหม่ ” สำหรับความขัดแย้ง มองว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความขัดแย้งสามารถส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบแก่องค์กร ทำให้องค์กรไม่หยุดนิ่ง ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ เกิดการยอมรับและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ช่วยในการสร้างทีมงานได้เป็นอย่างดี

ความขัดแย้งที่ให้ผลทางบวกเรียกว่า ความขัดแย้งในทางสร้างสรรค์ (Constructive Conflict) เป็นความขัดแย้งที่ใช้ประโยชน์กับบุคคลและองค์การที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้น ผลประโยชน์ที่ได้รับที่ชัดเจนคือการเพิ่มการสร้างสรรค์และนวัตกรรม การเพิ่มพลัง การเพิ่มความยึดเหนี่ยวและลดความตึงเครียด ตรงข้างกับความขัดแย้งที่ให้ผลทางลบซึ่งเรียกว่า ความขัดแย้งเชิงทำลาย (Destructive Conflict) เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีประโยชน์ต่องาน ต่อบุคคลและองค์การ ความขัดแย้งเชิงทำลายจะลดประสิทธิภาพของบุคคล กลุ่มและองค์การ ความขัดแย้งที่ให้ผลเช่นนี้จะเกิดจากความเป็นศัตรูของบุคคลแต่ละฝ่ายอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางอารมณ์ หรือเกิดจากการที่บุคคลหรือกลุ่มไม่สามารถตกลงได้กับเป้าหมายของกลุ่ม ความขัดแย้งเชิงทำลายยังมีผลต่อการสูญเสียผลผลิต ความพึงพอใจในงาน ความเครียดจากการใช้อำนาจหรือการบังคับและมีผลต่อการลดเป้าหมายร่วมกันของบุคคลหรือกลุ่มหรือองค์การ

โทมัส และ คิลเมน ได้ศึกษาว่า ในกรณีที่คนเราต้องเผชิญกับความขัดแย้ง เราจะมีวิธีการจัดการ (หรือขจัด) ความขัดแย้งนั้นอย่างไร ? ซึ่งผลจากการศึกษาได้จำแนกวิธีการจัดการกับความขัดแย้งออกเป็น 5 แนวทาง ดังนี้

1. การเอาชนะ (Competition) เมื่อคนเราพบกับความขัดแย้ง จะมีบางคนที่แก้ไขความขัดแย้งนั้น ด้วยวิธีการเอาชนะ โดยมุ่งเน้นชัยชนะของตนเองเป็นสำคัญ จึงพยายามใช้อิทธิพล วิธีการหรือช่องทางต่าง ๆ เพื่อจะทำให้คู่กรณียอมแพ้หรือพ่ายแพ้ตนเองให้ได้ การแก้ไขความขัดแย้งในแนวทางนี้ จะทำให้เกิดผลลัพธ์ในลักษณะ “ ชนะ-แพ้ ”

2. การยอมรับ (Accommodation) จะเป็นพฤติกรรมที่เน้นการเอาใจผู้อื่น อยากเป็นที่ยอมรับและได้รับความรัก มุ่งสร้างความพอใจให้แก่คู่กรณี โดยที่ตนเองจะยอมเสียสละ แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้ เกิดผลลัพธ์ในลักษณะ“ชนะ-แพ้”

3. การหลีกเลี่ยง (Avoiding) เป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งในลักษณะไม่สู้ปัญหา ไม่ร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ไม่สนใจความต้องการของตนเองและผู้อื่น พยายามวางตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง พูดง่าย ๆ ก็คือทำตัวเป็นพระอิฐพระปูนนั่นเอง แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้ มักเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ “ แพ้-แพ้ ” เป็นส่วนใหญ่

4. การร่วมมือ (Collaboration) เป็นพฤติกรรมของคนที่มุ่งจัดการความขัดแย้ง โดยต้องการให้เกิดความพอใจทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในแบบนี้ เรียกได้ว่าเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งที่ Win-Win ทั้งสองฝ่ายแนวทางการแก้ไขแบบนี้จึงเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ “ ชนะ-ชนะ ”

5. การประนีประนอม (Compromising) เป็นความพยายามที่จะให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับความพอใจบ้าง และต้องยอมเสียสละบ้าง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีที่ 1 คือวิธีเอาชนะมากกว่าวิธีอื่น แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้ จึงเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ “ แพ้-แพ้ ” หรือ “ ชนะ-แพ้ ”

ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถใช้ความขัดแย้งเป็นเครื่องมือ “ สร้างโอกาส ” ในการพัฒนาและปรับปรุงองค์กรได้เป็นอย่างดี หากท่านมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ท่านจะเลือกทางออกอย่างไร ระหว่าง การเอาชนะ การยอมรับ การหลีกเลี่ยง การร่วมมือ หรือ การประนีประนอม อย่างไรก็ดี สิ่งอย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักก็คือ เรากำลังหาทางออกของปัญหา ไม่ใช่การหาผู้กระทำผิดหรือผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกับเราและพยายามอย่างยิ่งในการหาทางออกแบบ “ ชนะ-ชนะ ”

ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็คือ ทักษะในการฟัง โดยต้องเป็นการฟังอย่าง “ เข้าอกและเข้าใจ ” ดังคำว่า “First to understand and then to be understood” และทดลองใช้เครื่องมือเพื่อขอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ขอความร่วมมือ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง “ แบบเชิงรุก ” โดยใช้ “ สุนทรียสนทนา ”

กิจกรรม “ สุนทรีสนทนา ” เป็นเรื่องของการเปิดใจยอมรับฟัง และการร่วมแสดงความคิดเห็นโดยมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาและการเสนอแนะ ไม่ได้เน้นที่ตัวบุคคลหรือค้นหาผู้กระทำผิด พร้อมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีต่อกัน ผลลัพธ์สุดท้ายของกิจกรรมนี้ก็คือ องค์กรจะเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกิดบรรยากาศในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และรู้สึกปลอดภัยในการให้ข้อมูล ซึ่งเมื่อเกิดความรู้สึกแบบนี้แล้ว ความขัดแย้งก็จะสลายไปในที่สุด ซึ่งเป็นที่น่าดีใจที่พวกเราก็ได้สร้างสรรค์กิจกรรมนี้ด้วยตัวพวกเราเองหลังจากที่พวกเราได้สร้างวัฒนธรรมองค์กร (iHears) ร่วมกัน บางคนได้นำไปใช้ที่บ้านด้วยซ้ำ พวกเราจะเห็นว่าวัฒนธรรมองค์กรของเรานั้นเป็นสิ่งที่นำทางเราไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ
สุดท้ายนี้ขอให้พวกเราตั้งใจปฏิบัติตามวัฒนธรรมองค์กรและโชคดีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านบทความทั้งหมด