วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

การทำงานเป็นทีม: มุมที่มองข้ามไป (Synergy : Difference Aspect)



By พี่แมว

การบริหารไสตล์ญี่ปุ่นที่เน้นการทำงานเป็นทีม เป็นที่ยอมรับว่าเป็นแนวทางการบริหารคน ที่ได้ผลมากกว่าสไตล์ การทำงานแบบต่างคนต่างทำ (Individualism) ของประเทศทางตะวันตกหลายประเทศ พูดง่าย ๆ ก็คือฝรั่งเองก็ต้องยอมรับว่า “การทำงานเป็นทีม” นั้นเพิ่มผลิตภาพ (productivity) และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน การทำงานเป็นทีมทำให้เกิด “การประสานพลัง” (Synergy) ซึ่งทำให้ 1 + 1 ได้มากกว่า 2 !!!!

หลายท่านตระหนักดีถึงภาระหน้าที่ในการเป็นผู้นำทีม ภาระหน้าที่ในการสร้างทีมงาน เป็นการมองจากข้างบนลงข้างล่าง ซึ่งบางท่านทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี บริหารลูกน้องให้ทำงานได้ตามเป้าหมาย ลูกน้องรัก ให้ความเคารพนับถือ มีศรัทธา แต่ผู้บริหารท่านเดิมนั้นเอง กลับมีปัญหากับ “ผู้นำทีม” ของตนเอง
“มุมที่มองข้ามไป” ในเรื่องการทำงานเป็นทีมก็คือ การทำงานเป็นทีมกับผู้นำทีมของตัวเราเอง ซึ่งไม่เป็นประเด็นที่นำมาถกเถียงคุยกันมากเท่าที่ควรจะเป็น
ผู้บริหารที่มีความรู้ ประสบการณ์ดี บริหารทั้งงานผลิต งานขาย-การตลาด การเงิน ฯลฯ ลูกน้องรัก ลูกค้าพอใจ แต่ “ผู้นำทีม” หรือผู้บังคับบัญชา กลับไม่นิยมยกย่องก็มี!!! หลายครั้งหลายคราที่องค์กรต้องเสียมือดี ๆ ไป เสียโอกาสทางธุรกิจไป เพราะประเด็นเรื่องการทำงานเป็นทีมระหว่างลูกทีมกับผู้นำทีม ที่คล้ายกับเกิดศรศิลป์ไม่กินกัน นอกจากมองตาไม่รู้ใจแล้ว ยังรู้สึกขัดหูขัดตาอีกด้วย….
ปัญหาอยู่ที่ไหน?-หลายท่านอาจจะถาม
บางท่านอาจจะบอกว่าก็คนมันดวงไม่สมพงศ์กัน ลูกน้องบางคนว่า “นาย” เล่นพวก เราเลยไม่รุ่ง ลูกพี่บางคนว่า “ลูกน้อง” ซื่อบื้อ หรือ บางคนสรุปว่าเป็นเพราะขาดคาถามหาจำเริญ คาถาที่ว่านี้มีเพียง 4 วลี “ใช่ครับพี่” “ดีครับท่าน” “ทันครับผม” และ “เหมาะสมครับเจ้านาย"
ถ้าผู้อ่านเห็นด้วยกับคาถาที่ว่านี้ ก็ไม่ต้องอ่านบทความนี้อีกต่อไป - เพราะจะไม่ได้ประโยชน์อะไร”

หัวใจในการทำงานเป็นทีมนั้นมีอยู่ 4 ข้อ
ข้อแรกคือต้องมี “เป้าหมาย” เดียวกัน
ข้อ 2 คือ “บทบาท” อำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ของทั้ง “ผู้นำทีม” และ “ผู้ตาม” เข้าใจตรงกันมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ
ข้อ 3 คือ มีระบบการให้รางวัลค่าตอบแทนที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม
ข้อสุดท้าย คือต้องมี “ทักษะ” ที่จำเป็นในการทำงานเป็นทีม เช่นการบริหารความขัดแย้ง ความสามารถในการติดต่อสื่อสารให้ถูกช่องทาง ฯลฯ

ดังนั้นหากผู้นำและลูกทีมมีเป้าหมายที่ขัดแย้งกัน(โดยไม่ต้องตั้งใจ) มีวิธีการทำงานที่ต่างกัน ไม่สนใจหรือมองข้าม “สไตล์” การทำงานของซึ่งกันและกัน การเล่นบทบาทอย่างที่ตัวเองคิดว่าน่าจะเป็น โดยไม่ทันเหลียวมองสัญญาณจาก “ผู้กำกับการแสดง” ว่าต้องการให้ “เล่น” อย่างไร ปัญหาย่อมเกิดขึ้นแน่นอน หน้าที่ของลูกทีม ที่อาจเป็นผู้บริหารด้วยหรือไม่ก็ได้นั้น มีหน้าที่ นั่นคือ การพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมกับ “ผู้บังคับบัญชา” ของตนเองด้วย หน้าที่ของท่านไม่เพียงแต่สร้างทีมงานกับลูกน้องเท่านั้น แต่กับ “นาย” ของเราด้วย การบริหารนั้นมีทั้งแบบบน-ลง-ล่าง (Downward management) ที่เราต้องเป็นผู้นำทีม บริหารลูกทีมสู่เป้าหมาย และแบบล่าง-ขึ้น-บน (Upward management) ที่จะต้องทำให้ลูกพี่และตัวเราเองเกื้อกูลกัน ทำงาน ”เข้าขา” กันอย่างดี เพื่อสร้างผลงานให้ตัวเราเอง ซึ่งก็จะเป็นผลงานของ “นาย” ของเรา ผลงานของทีมงานและเป็นผลงานต่อองค์กรในที่สุด
อ่านบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

ชีวิต ความคิด และเวลา (Life,Notion and Time)


by Oats

ในการค้นหาความหมายให้กับชีวิตที่มีอยู่ของคนเรา สิ่งหนึ่งที่ต้องแสวงหาก็คือศิลปะการเข้าใจตัวเองอย่างผู้มีปัญญา เพราะศิลปะที่มีอยู่นั้นย่อมเปรียบเสมือนกลยุทธ์ที่เราสร้างขึ้นเพื่อการเกี่ยวข้องกับตัวเองและให้รู้เท่าทันปรากฏการณ์ของชีวิตที่กำลังดำเนินไป
การแสวงหาศิลปะให้กับชีวิตนั้น ก็ต้องอาศัยมุมมองต่างๆ เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย จึงจะทำให้เกิดการมองสิ่งต่างๆ ได้หลากหลาย เป็นความงดงามทางความรู้สึกที่สร้างขึ้นต่อทัศนคติของตัวเรา
ขณะเดียวกันการที่เราสอดส่ายสายตาไปยังมิติต่างๆ ของชีวิตอยู่นั้น ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอื่นๆ มาเป็นตัวแปรอีกเช่นกัน สายตาที่ส่งทอดออกไปจึงจะแม่นยำต่อสิ่งที่เห็น หนึ่งในมุมมองที่ช่วยสะท้อนความคิดให้มีความรู้ในมิติที่หลากหลายก็คือปรัชญา
วิชาปรัชญาถือว่าเป็นวิชาหนึ่งที่สอนให้คนเรารู้จักแสวงหาความรู้ความเข้าใจให้กับตัวเอง สอนชีวิตให้รู้จักมองอะไรหลายๆ ด้าน ไม่มองเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วตัดสินในทันที แต่เป็นการมองหามิติต่างๆ โดยไม่มีการตัดสินด้วยจิตใจที่ตีบตัน


มีครั้งหนึ่งอาจารย์สอนปรัชญาได้นำอุปกรณ์มาสอนเรื่องมุมมองชีวิตแก่ลูกศิษย์ในชั้นเรียน โดยให้นักศึกษาช่วยกันมองว่าสิ่งที่อาจารย์สอนนั้นต้องการบอกอะไร อุปกรณ์ดังกล่าวก็คือ ขวดโหลเปล่า ๑ ใบ ลูกมะนาว ก้อนกรวดเล็กๆ และทรายในปริมาณที่เท่าๆ กัน

หลังจากนั้นอาจารย์ก็ตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้ขวดโหลเต็มไปด้วยวัตถุทั้งสามอย่างคือ มะนาว ก้อนกรวด และทรายได้ด้วยความลงตัว คือให้สามอย่างนี้ลงไปรวมกันและตามลำดับที่ถูกต้องด้วย เหล่านักศึกษาต่างก็มีความคิดเห็นต่างกันออกไป ซึ่งประมวลเป็นความคิดรวบยอดได้ ๓ กลุ่ม

กลุ่มที่ ๑ ตอบว่าให้เติมทรายลงก่อน ต่อจากนั้นก็ให้เติมก้อนกรวดเล็กๆ ลงไป และปิดท้ายด้วยลูกมะนาว
กลุ่มที่ ๒ ตอบว่าให้เติมก้อนกรวดเล็กๆ ลงก่อนแล้วก็ตามด้วยทราย และปิดท้ายด้วยการเติมลูกมะนาวลงไป
กลุ่มที่ ๓ ตอบว่าให้เติมลูกมะนาวลงเป็นลำดับแรก ตามด้วยก้อนกรวดเล็กๆ และปิดท้ายด้วยทรายที่ละเอียด
ถ้าเป็นผู้อ่านจะเลือกเติมสิ่งใดลงไปในขวดโหลก่อนและหลัง ทั้งสามอย่างจึงจะเต็มได้ด้วยความสมดุลต่อกัน?
หลังจากให้นักศึกษาตอบเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ก็ให้แต่ละกลุ่มเติมสิ่งที่มีอยู่ลงไปในขวดโหลตามความคิดที่ระดมสมองกันมา


กลุ่มที่ ๑ เติมลงไปได้แค่ทรายกับก้อนกรวดเล็กน้อยแต่ไม่สามารถที่จะให้มะนาวแทรกลงไปได้ เพราะความแน่นของทรายที่มีมาก และก้อนกรวดที่ลงไปจับจองพื้นที่ไว้หมดแล้ว
กลุ่มที่ ๒ เติมลงไปได้แค่ก้อนกรวดและทราย แต่ก็ไม่สามารถที่จะให้มะนาวลงไปได้เช่นกัน
ส่วนกลุ่มที่ ๓ นั้นสามารถเติมวัตถุทั้งสามอย่างลงไปอยู่ในขวดโหลได้ทั้งหมด และจัดสัดส่วนของวัตถุทั้งสามอย่างด้วยความเหมาะสม เพราะมะนาวนั้นมีความกลมเกลี้ยง จึงทำให้ก้อนกรวดมีโอกาสแทรกตัวลงไปได้ กระทั่งว่าทรายที่ละเอียดก็สามารถแทรกตัวผ่านทั้งมะนาวและก้อนกรวดได้เช่นกัน ขวดโหลจึงมีส่วนประกอบที่สมบูรณ์ตามที่อาจารย์ตั้งโจทย์ไว้


หลังจากทดลองเรียบร้อยแล้ว อาจารย์จึงเฉลยว่ากลุ่มที่ทำได้ตามที่ทดลองไว้อย่างถูกต้องก็คือกลุ่มที่ ๓ เพราะสามารถเติมทั้งสามสิ่งลงไปได้ครบถ้วนตามที่ตั้งปัญหาขึ้นมา หลังจากนั้นอาจารย์ก็ให้ข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตผ่านขวดโหล มะนาว ก้อนกรวด และทรายที่มีอยู่ ว่า
“ขวดโหล” เปรียบเสมือนชีวิตของคนเราที่ต้องคอยรองรับสิ่งที่ผ่านเข้ามาอยู่ตลอดเวลา เป็นภาชนะสำหรับบรรจุสิ่งต่างๆ ในชีวิตของแต่ละคน
“มะนาว” เปรียบเสมือนสิ่งที่สำคัญในชีวิต ได้แก่ สุขภาพกายสุขภาพใจ ครอบครัว มิตรสหาย คุณงามความดี สิ่งสูงสุดที่เราเคารพนับถือ รวมทั้งสติปัญญาที่เราพึงมีจากการเรียนรู้ชีวิตที่ถูกต้อง
“ก้อนกรวด” เปรียบเสมือนสิ่งสำคัญรองลงมาที่ช่วยเกื้อกูลชีวิตของเราให้มีความสบายมากขึ้น เช่น วิชาความรู้แบบชาวโลก อาชีพการงาน ชื่อเสียงเกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง บ้าน รถ และวัตถุต่างๆ ที่แสวงหามาได้
“ทราย” เปรียบเสมือนความสนุกสนานความเพลิดเพลิน ตลอดทั้งสิ่งที่ทำให้มีความสนุกเพียงเล็กน้อยที่ผ่านเข้ามาแล้วช่วยเพิ่มสีสันให้ชีวิต แต่ถ้าไม่มีก็ถือว่าไม่ส่งผลต่อชีวิตแต่อย่างใด
เมื่ออาจารย์ให้ความหมายสิ่งต่างๆ ที่ยกมาเป็นสื่อการสอนเรียบร้อยแล้ว ก็อธิบายเพิ่มเติมเพื่อเปิดมุมมองให้ลูกศิษย์ได้ตระหนักถึงคุณค่าชีวิตของตัวเองว่า
“ขวดโหลใบนี้จะบรรจุมะนาว ก้อนกรวด และทรายได้ทั้งหมดก็ต่อเมื่อเรารู้จักเติมสิ่งที่ถูกต้องลงไปก่อน เริ่มต้นด้วยการเติมมะนาว ตามด้วยก้อนกรวด และปิดท้ายที่ทราย ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน จะมีความสุขที่ครบถ้วนได้ก็ต้องรู้จักเติมสิ่งต่างๆ ให้กับตัวเองอย่างถูกต้อง เช่น มีความรู้ความเข้าใจชีวิตอย่างผู้มีปัญญา รู้จักรักษาสุขภาพกายและใจ มีเวลาให้ครอบครัว ใส่ใจมิตรสหายอันก่อเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกัน หลังจากนั้นก็แต่งแต้มชีวิตด้วยวิชาความรู้ ความสามารถ การแสวงหาทรัพย์ในทางที่ถูกต้องแบบชาวโลกทั่วไป สุดท้ายเป็นการเติมความสนุกสนานให้กับตัวเอง เช่น การพักผ่อนในสถานที่ ที่เราพึงใจ แต่ประการสุดท้ายนี้แม้ชีวิตขาดไปก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด”


“แต่ถ้าเรามัวแต่ให้ความสำคัญกับความสนุกสนาน ความเพลิดเพลินเป็นลำดับแรก หรือให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้ที่เป็นการให้ได้มีงานทำแบบชาวโลกทั่วไป และไขว่คว้าทรัพย์ภายนอกอย่างเดียว แต่ไม่มีสติปัญญาอันเป็นความเข้าใจในชีวิต สุขภาพกายและจิตใจไม่แข็งแรงหรือไม่แจ่มใสเบิกบานตลอดทั้งลืมให้ความสำคัญกับครอบครัว มิตรภาพ และคุณงามความดีที่เป็นความสำคัญที่สุดของชีวิต สิ่งที่ได้ตอบแทนย่อมไร้ความหมาย สุดท้ายชีวิตที่เกิดมาก็ว่างเปล่าจากสาระที่แท้จริง”
เมื่อเปรียบการเติมมะนาว ก้อนกรวด และทรายลงในขวดโหลแล้ว ก็เหมือนกับการเติมสิ่งต่างๆ ลงในชีวิตของคนเราทุกคน เพราะกว่าชีวิตจะมีสิ่งต่างๆ เติมเต็มให้กับตัวเอง ก็ต้องผ่านการเรียนรู้มามากพอสมควร เป็นการลองผิด ลองถูก ในการเกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยที่มี จนกว่าคำตอบนั้นจะกระจ่างชัด
ทว่า คนเราส่วนมากก็มักจะละเลยสิ่งที่เป็นความสำคัญที่สุดในชีวิตไป ลืมใส่ใจที่จะเรียนรู้สิ่งที่มีค่าที่สุดให้กับตัวเอง เช่น การเข้าใจตัวเอง การรักษาสุขภาพกายและใจ การเสริมสร้างสติปัญญาที่ชีวิตควรมี แต่กลับให้ความสำคัญกับวัตถุภายนอกหรือความเพลิดเพลินสนุกสนานเป็นลำดับแรก

สิ่งที่ตามมาจึงไม่สามารถเติมเต็มคุณค่าให้กับชีวิตได้ สิ่งที่ไขว่คว้าจึงเป็นความว่างเปล่าจากการแสวงหา เป็นความทุกข์เพราะสิ่งที่หมายปอง เศร้าหมองกับสิ่งที่เรียกร้องหาแต่ไม่มีวันสมหวัง จึงลงเอยด้วยความเจ็บปวดเสมอ เมื่อไม่สามารถตอบสนองความต้องการให้เต็มอิ่มได้ สิ่งที่ได้มาจึงเป็นเพียงเครื่องหมายสะท้อนความด้อยค่าในตัวเอง
แต่หากชีวิตมีความเข้าใจด้วยปัญญาเป็นลำดับแรก รู้สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการวางใจที่พอเหมาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคิดหรืออารมณ์ที่ผ่านเข้ามา และกาลเวลาที่พัดพาสรรพสิ่งให้เปลี่ยนไป สิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้ที่ถูกต้องย่อมก้าวไปสู่แก่นสาระที่ชีวิตต้องการเสมอ
ชีวิต ความคิด และเวลาที่ผ่านเข้ามาในวิถีของสรรพสิ่ง หากเรามีความเข้าใจและรู้เท่าทัน มีการเรียนรู้ที่จะเพิ่มหรือลดสิ่งใดให้กับตัวเองอย่างคนที่เข้าใจ เราย่อมสามารถค้นหาคุณค่าของชีวิต คุณค่าของความคิดที่งดงาม และคุณค่าของกาลเวลาที่ผ่านเข้ามาได้เป็นอย่างดี
เพราะสรรพสิ่งมิใช่เกิดมาเพื่อดำรงอยู่อย่างถาวร แต่เกิดมาเพื่อให้มีการเรียนรู้และพัฒนาให้ก้าวข้ามความด้อยค่าของชีวิตที่มีอยู่ เมื่อใดที่เข้าใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นสาระแท้ ปล่อยวางสิ่งที่ไร้แก่นสารอันก่อให้เกิดความลวงได้ เราย่อมประสบกับความสุขอย่างที่หวังไว้ตราบนานเท่านาน

+ + + + + + + + + + + OATS + + + + + + + + + + +


อ่านบทความทั้งหมด