วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการพัฒนา “ลูกน้อง” ให้เป็น “หัวหน้า (To be a BOSS !!)

By พี่โหน่ง


วันนี้พี่ไปเจอบทความดีๆมาฝากเพื่อนำไป apply ใช้ในการบริหารทีมในองค์กรหรือในกะของตนเองหลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวในลักษณะที่ว่า “ คลื่นลูกใหม่ มักจะแรงกว่าคลื่นลูกเก่า ” ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบกับคนทำงานในรุ่นต่างๆ ขององค์กรได้เหมือนกันนะครับ เราจะเห็นว่าคนรุ่นก่อนๆ กว่าจะก้าวมาเป็นผู้บริหารหรือผู้จัดการได้ ต้องใช้เวลากันสิบปียี่สิบปี แต่เด็กรุ่นใหม่หลายคนที่เป็นผู้บริหาร และเป็นผู้จัดการตั้งแต่อายุงานยังไม่ถึงสิบปี



คนที่เป็นหัวหน้าในยุคก่อนๆ บางคนมีความเชื่อที่ผิดๆ คือ ต้องเก็บและรักษาลูกน้องที่เก่งๆ ให้ทำงานเป็นลูกน้องของตัวเองนานๆ เหตุผลก็มีหลายอย่าง เช่น ถ้าลูกน้องเก่งๆ ยังเป็นลูกน้องอยู่ ตัวเองก็สบาย หรือไม่อยากให้ลูกน้องได้ดีกว่าตัวเอง
หรือไม่ก็รับไม่ได้ที่ลูกน้องขึ้นมาเป็นหัวหน้าตัวเอง และผมก็ยังเชื่อว่าลึกๆ แล้วในปัจจุบันนี้ก็ยังมีหัวหน้าบางคน ยังมีความคิดและความเชื่อแบบนี้อยู่ เพียงแต่อาจจะแสดงออกให้เห็นไม่ชัดเจนมากนักเท่านั้น อาจจะให้เหตุผลที่ดูดีขึ้น เช่น เขาเพิ่งทำงานตรงนี้มาเพียงไม่กี่ปี น่าจะให้เขาอยู่ต่ออีกหน่อย เราต้องใช้เวลาพัฒนาเขามานาน ควรจะใช้งานให้คุ้มก่อนแล้วค่อยเลื่อนตำแหน่ง หรือคนใหม่ที่จะมาแทนยังไม่เก่งพอ อย่าเพิ่งปล่อยเขาขึ้นไปเลย ถ้าเราเชื่อว่าคลื่นลูกใหม่จะไปไกลและสดใสกว่าคลื่นลูกเก่าแล้ว ผมคิดว่าเราในฐานะที่เป็นหัวหน้าคน ก็ไม่ควรไปฝืนธรรมชาติ แต่เราควรจะฉกฉวยโอกาสจากสัจธรรมในข้อนี้มาให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อลูกน้องและต่อองค์กรจะดีกว่านะครับ
อยากให้คนที่เป็นหัวหน้าหรือกำลังจะเป็นหัวหน้าในอนาคต เห็นความสำคัญของลูกน้องให้มากขึ้นนะครับ อย่าคิดเพียงว่าลูกน้อง คือคนที่ทำงานตามคำสั่งของเราเพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะลูกน้องนั้นเป็นทั้งลูกและเป็นทั้งน้อง เราจะต้องห่วงหาอาทร เราจะต้องดูแลเขาให้ได้ดี พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกได้ดีกว่าตัวเอง ไม่อยากให้ลูกเหมือนหรือแย่กว่าตัวเอง พี่ทุกคนอยากเห็นน้องตัวเองประสบความสำเร็จ แล้วทำไมหัวหน้าจึงไม่นำเอาแนวคิดมาใช้กับลูกน้องบ้างละครับ
เราควรจะคิดเสียใหม่ว่า ทำอย่างไรให้ลูกน้องประสบความสำเร็จดีกว่าและเร็วกว่าเรา ผมคิดว่าเราแค่เปลี่ยนเพียงความคิดในเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว ก็น่าจะช่วยให้ลูกน้องเรามีโอกาสก้าวหน้ามากขึ้นแล้วครับ อย่าลืมนะครับว่าคนที่เป็นลูกน้องเราอยู่ในขณะนี้ เขามีอะไรดีๆ กว่าเราตั้งหลายอย่าง เพียงแต่ ณ เวลานี้เขาด้อยกว่าเราเพียงบางอย่างเท่านั้น จึงทำให้เขาต้องมาเป็นลูกน้องเรา เช่น เพิ่งจบการศึกษามาใหม่ ประสบการณ์การทำงานน้อย ความรู้ในงานน้อยกว่าเรา หรือโอกาสทางตำแหน่งหน้าที่ยังมาไม่ถึง

จงคิดเสียว่าไม่มีลูกน้องคนไหน ที่จะด้อยกว่าเราทุกเรื่องในทุกเวลาของชีวิต

สิ่งที่ผมและองค์กรอยากจะเห็นคือ หัวหน้าที่สอนลูกน้องได้ ลูกน้องต้องไปได้ดีและไกลกว่าหัวหน้า เพราะลูกน้องมีโอกาสได้เรียนรู้ และเรียนลัดจากประสบการณ์ในการทำงานของหัวหน้า อะไรที่เคยทำผิด อะไรที่เคยทำพลาดมา จะได้นำมาบอกลูกน้องให้ป้องกัน ลูกน้องน่าจะมีเวลาลองผิดลองถูกน้อยกว่าหัวหน้า ดังนั้น โอกาสในการพัฒนาจึงน่าจะมีมากกว่าเช่นกัน ผมคิดว่าหัวหน้าที่ดีควรทำหน้าที่เป็นโค้ช เหมือนโค้ชกีฬา เพราะถ้านักกีฬาประสบความสำเร็จ นั่นก็หมายถึงความสำเร็จของโค้ชเช่นกัน ความภูมิใจของเราไม่ได้อยู่ที่เขาทำงานให้เราดีวันนี้เท่านั้น (เป็นเพียง ความดีใจที่ผลงานเราออกมาดี) แต่...ความภูมิใจที่แท้จริงและยิ่งใหญ่คือคนที่เคยเป็นลูกน้องเรา เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือในชีวิตและคนอื่นพูดถึง เราจะเห็นว่าทุกครั้งที่คนอื่นชื่นชมความสำเร็จของอดีตลูกน้องเรา เราอดไม่ได้ที่จะอาศัยผลแห่งความสำเร็จของเขาสร้างกำลังใจให้กับเรา บางครั้งแค่เพียงอดีตลูกน้องเรา เขาบอกกับคนอื่นว่าเขาเคยเป็นลูกน้องเรามาก่อน เพียงแค่นี้เราก็เกิดความภูมิใจมากแล้วครับ ยิ่งถ้าลูกน้องเราที่ประสบความสำเร็จเอ่ยถึง แม้เพียงชื่อเราว่ามีส่วนทำให้ เขาประสบความสำเร็จ ยิ่งทำให้เรามีคุณค่าในสายตาคนอื่นมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น ขอให้คิดเสียว่าสังขารและมันสมองของเรามันเติบโตช้ากว่าลูกน้องแล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะเอาประสบการณ์ที่มีอยู่ ให้ลูกน้องไปใช้เป็นเสบียงในการเดินทางไปสู่ความสำเร็จในชีวิตให้ได้ นี่คือโจทย์ที่สำคัญของคนที่เป็นหัวหน้าทุกคน

แนวทางที่ผมคิดว่า หัวหน้าน่าจะลองนำมาใช้ในการพัฒนาลูกน้องให้เป็นหัวหน้า เช่น
ฝึกให้ลูกน้องคิดแทนหัวหน้าก่อนที่หัวหน้าจะคิดทำ


เมื่อมีงานอะไรเข้ามา ถ้ายังมีเวลาลองมอบหมายให้ลูกน้องคิดแทนเราไปก่อนหนึ่งครั้ง
ถ้าดีก็เอาความคิดลูกน้องมาปฏิบัติ ถ้ายังไม่ดีก็ให้คำแนะนำเขาไป
ถ้าทำอย่างนี้บ่อยๆ คนที่เป็นลูกน้องก็จะมีตำแหน่งทางสังคมเป็นลูกน้อง แต่สมองได้เป็นหัวหน้าไปเรียบร้อยแล้ว

ให้โอกาสลูกน้องให้เป็นหัวหน้า

โดยการมอบหมายงานให้ทำงานแทน รักษาการแทน สลับกันเป็นผู้นำในแต่ละเรื่อง
หรือแม้กระทั่งลองเป็นประธานในที่ประชุมแทนหัวหน้า และหัวหน้าลองเป็นผู้เข้าร่วมประชุมบ้าง
จะทำให้ลูกน้องได้มีโอกาสเรียนรู้ ข้อจำกัดของการเป็นหัวหน้ามากยิ่งขึ้น ดีกว่าปล่อยให้เขาไปเจอเองเมื่อถึงเวลา

ร่วมกับลูกน้องวางเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ

หัวหน้าควรจะมีทั้งบทบาทของการเป็นหัวหน้า และที่ปรึกษาเรื่องราวในชีวิตของลูกน้องด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนความก้าวหน้าในชีวิตของลูกน้อง ว่าเขาควรจะเติบโตไปทางไหน
ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง และต้องให้คำแนะนำอย่างจริงใจ และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ลูกน้องมีโอกาสเติบโต

พัฒนาลูกน้องตามความถนัดและเหมาะสม

หัวหน้าควรจะกำหนดแนวทางในการพัฒนาลูกน้องให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
เพราะเรามีเวลาจำกัด มีทรัพยากรจำกัด ดังนั้น อาจจะต้องมีจัดลำดับความสำคัญของลูกน้องที่ต้องพัฒนา
อาจจะกำหนดส่งพวกเขาให้ถึงฝั่งเป็นรุ่นๆ ไป เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะถึงฝั่งพร้อมๆ กัน

ลูกน้องที่เก่งเหมือนคลื่นที่มาแรง จงอย่าแซงแต่จงเกาะไปกับกระแส

ถ้าใครมีลูกน้องที่เก่ง มีไฟในการทำงานสูง เราไม่ควรไปปิดกั้นหรือปิดโอกาสเขา
เพราะเราไม่สามารถปิดกั้นได้ตลอด วันใดที่เขาพบช่องที่จะไปเราอาจจะพัง
ขอให้หัวหน้าจงสนับสนุนคนที่เก่งและมีไฟ เพราะถ้าเราดูแลเขาดีในช่วงที่เขายังเป็นลูกน้องเราอยู่
ผมเชื่อมั่นว่าวันที่เขาขึ้นไปเป็นหัวหน้าเราหรือผู้บริหารของเรา เขาคนนั้นจะไม่มีวันลืมเราอย่างแน่นอน

สรุป โจทย์ที่สำคัญของคนที่เป็นหัวหน้าคือ ทำอย่างไรให้ลูกน้องขึ้นมาเป็นหัวหน้าเราหรือเป็นหัวหน้าคนอื่นโดยที่เรามีส่วนร่วมกับความสำเร็จของเขา และเป็นคนที่คนในองค์กรให้การยอมรับในความสามารถ ผมคิดว่าต่อไปองค์กรอาจจะต้องตั้งโจทย์ สำหรับการเลื่อนตำแหน่งหัวหน้าเสียใหม่ว่า ใครสามารถทำให้ลูกน้องเติบโตและก้าวหน้าได้มากและดีกว่ากัน คนๆ นั้นจะได้รับการยกย่องให้เป็นโค้ชแห่งการพัฒนาคนในองค์กร เพราะหัวหน้าหลายคนอาจจะไม่เก่งเรื่องความสามารถในการทำงาน แต่อาจจะเก่งในด้านการพัฒนาคนอื่นให้เก่งได้ สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หัวหน้าที่ได้อ่านบทความนี้จะนำแนวคิดที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาลูกน้องให้ประสบความสำเร็จ ในชีวิตการทำงานต่อไปนะครับ
“หัวหน้าจะได้ดีเพราะลูกน้องครับ”
ที่มา :www.hrcenter.co.th

" บทความเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน จาก "ในหลวงของเรา"



ประสบการณ์ดี ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสั่งให้กำลังใจในการทำงาน
องคมนตรีสุเมธ ท่านได้เล่าให้ฟังว่า
"ตอนนั้นผมกำลังทำงานอยู่ในสภาพจิตใจที่แย่มาก มันไม่มีกำลังใจจะทำอะไร
ท้อแท้กับงานมาก ไม่มีใครเข้าใจ เหมือนทำดีแต่ไม่ได้ดี" ในหลวงท่านทรงเสด็จมาพอดี
และท่านได้เห็นสีหน้าผมไม่สู้จะดี ท่านได้สอบถามจนได้ความว่าผมกำลังท้อแท้กับงาน
ท่านจึงตั้งคำถามและรับสั่งว่า ท่านสุเมธเคยขายเศษเหล็กไหม
เศษเหล็กเหล่านั้น เวลาขาย คุณค่ามันต่ำมาก คงได้เงินมาไม่กี่บาท
แล้วถ้าเราเอาเศษเหล็กเหล่านั้นมาหลอมรวมกันเป็นแท่ง เวลาหลอมนี่ เหล็กมันคงรู้สึกร้อนมาก
พอหลอมเสร็จเรานำมาทำเป็นดาบ คงต้องนำมาตีให้แบนอีก
เวลาตีก็ต้องเอาไปเผาด้วยไฟ ต้องตีไปเผาไปอยู่หลายรอบกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างดาบอย่างที่เราต้องการ
ต้องผ่านความเจ็บปวด ความร้อนอยู่นานแถมเมื่อเสร็จแล้วถ้าจะให้สวยงามดังใจ
ก็ต้องนำไปแกะสลักลวดลายเวลาที่แกะสลักลวดลายก็คงต้องใช้ของแข็งมีคมมาตีให้เป็นลวดลายอีก
แต่เมื่อเสร็จเป็นดาบที่งดงามก็จะมีคุณค่าที่สูงมากเทียบกับเศษเหล็กคงจะต่างกันลิบลับ
จะเห็นว่ากว่าที่เศษเหล็ก ไม่มีคุณค่ามากนักจะกลายเป็นดาบอันงดงามนั้น
ต้องผ่านอุปสรรคมามากมายทั้งความเจ็บปวดต่าง ๆ กว่าจะประสบความสำเร็จ
ดังนั้น
ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า
"ใครไม่เคยถูกตี ถูกทุบ เจอเรื่องเลวร้ายในชีวิตมาเลยนั้น จงอย่าได้หาญคิดการใหญ่”
บทความนี้น่าจะเป็นกำลังใจให้กับหลายๆคนที่ท้อแท้กับการทำงาน ให้อ่านบนความนี้แล้วชีวิตการทำงานจะดีขึ้นแน่นอน


อ่านบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ก้าวแรกของความสำเร็จ (The First step is always the hardest)

โดย พี่เปิ้ล

ในที่สุดวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2554 ก็กลายเป็นวันแรกของการผลิต H2O2 ของพวกเรา ถือว่าเป็นความสำเร็จก้าวแรกของทีมงานเราและคงจะไม่สายไปที่จะแสดงความยินดีกับความสำเร็จกับทุกๆคน เบื้องหลังของความสำเร็จนี้ล้วนมาจากความร่วมแรงร่วมใจกันของพี่ๆน้องๆทุกคนที่ทำงานกันอย่างทุ่มเทภายใต้สภาวะการณ์ที่กดดัน

พี่เริ่มมาร่วมงานกับโครงการนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ก็นับว่าเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควรกว่าจะถึงวันแห่งการผลิต แต่พี่ก็เชื่อว่าเวลาที่มีค่าอย่างนี้ไม่ได้หากันง่ายๆ ในชีวิตของการทำงานในโรงงาน บางคนอาจจะไม่เคยได้มีโอกาสสัมผัสกับการสร้างโรงงาน สร้างทีมงาน จนถึงกับการผลิตอย่างเต็มรูปแบบอย่างพวกเรา และที่สำคัญต้องถือว่าพวกเราเป็นทีมงานประวัติศาสตร์ของโซลเวย์ที่สร้างและดำเนินการผลิตโรงงานผลิต H2O2 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่การดำเนินการผลิตถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นของพวกเราเท่านั้น สิ่งที่จะทำให้พวกเราเป็นองค์กรที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคงไม่ใช่มาจากเทคโนโลยีที่ดีที่สุดหรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะในอนาคตก็คงจะมีโรงงานที่ขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการตลาดของบริษัท แต่สิ่งที่สามารถสร้างความแตกต่างที่ดีที่สุดคือวิถีการทำงานหรือวัฒนธรรมองค์กรของพวกเรา

ที่ผ่านมาเราคงมีความรู้สึกว่ากิจกรรมบางอย่างอาจจะไม่สำเร็จรวดเร็วอย่างที่ใจเราอยากให้เป็นเช่น ระบบเอกสารต่างๆ, เอกสารประกอบการทำงาน, รายงานประจำกะ,5ส,การสอบ ฯลฯ แต่พี่ก็เชื่อว่าทุกคนเข้าใจว่าการจะทำทุกอย่างให้สำเร็จพร้อมๆกันในขณะที่ทรัพยาก (เวลา, กำลังคน) ที่เรามีค่อนข้างจำกัดเป็นไปได้ยาก แต่พี่ก็ดีใจที่ทุกคนก็ยังมีข้อเสนอแนะที่ดีและมีความตั้งใจในการทำงานช่วยเหลือกันจนถึงวันนี้
จากนี้ไปเราคงต้องเริ่มต้นการเป็นเจ้าของบ้านที่เราร่วมกันสร้างมาและปลูกฝังการทำงานแบบครอบครัวเดียวกัน หรือ Home (ใน iHears)ให้เกิดขึ้นจริงในองค์กรและสิ่งนี้จะช่วยเติมเต็มส่วนต่างๆในวัฒนธรรมองค์กรไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรม จริยธรรมในการทำงาน ทัศนคติที่ดี ความรับผิดชอบต่อสังคม และ การทำงานเป็นทีม ให้สมบูรณ์ขึ้น รวมถึงช่วยกันพัฒนาระบบการทำงานที่มีมาตรฐานที่ดีเพื่อก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน

พี่ขอขอบคุณกับความทุ่มเทของพี่ๆน้องๆทุกคนกับความสำเร็จก้าวแรก การ Start up โรงงานผลิต H2 โรงงานกลั่น H2O2 และ การเป็นทีมงานที่ดีที่สุดจะเป็นความสำเร็จก้าวต่อไปที่รอคอยพวกเราอยู่ครับ
อ่านบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการบริหารเจ้านาย (Manage your BOSS !)


เกิดจากการกินชาเขียวแล้วนอนไม่หลับทำให้ต้องมานั่งท่องราตรีในอินเตอร์เนต เข้าไปอ่านเวปประจำไปเจอะบทความอันนึงเข้า เฮ้ยย... มันน่าสนใจนะ มีใครกล้าคิดอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ(วะ) เลยเอามาแบ่งปันกันดู อ่านไปอ่านมาส่วนตัวผมชอบนะ บางครั้งการมองในมุมกลับบ้าง มันเป็นอะไรที่น่าสนใจ มันทำให้รู้ถึงใจเขาใจเรา แถมยังได้ประโยชน์อีกต่างหาก ไม่เชื่อ กดเข้าไปเลยอย่าช้าที



ในชีวิตจริงของการทำงานไม่ว่าในองค์กรแบบไหน องค์กรภาครัฐ บริษัทเอกชนหรือแม้กระทั่งองค์กรการกุศล เสียงบ่นเกี่ยวกับเจ้านายมักจะอยู่ในร่องเสียงเดียวกัน (มองในแง่ลบ) เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นคล้ายๆกัน เช่น


เผด็จการชอบสั่งงานลูกน้อง “คุณต้องทำอย่างนี้” “ห้ามทำอย่างนั้น
รับแต่ความดีและความชอบ แต่โยนความผิดให้ลูกน้อง
จุกจิกเรื่องส่วนตัว สนใจในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
ชอบสั่งงานตอนใกล้เลิกงาน เป็นอาจิณ
เปลี่ยนความคิดทุกวัน วันนั้นจะเอาอย่างนี้ วันนี้จะเอาอย่างนั้น
เจ้าอารมณ์ หงุดหงิด โมโหง่าย เอาแต่ใจตัวเอง
เจ้านายไม่เก่ง ดีแต่ประจบเจ้านาย(ของเจ้านาย)
มีแต่จับผิด ไม่เคยจับถูก ไม่เคยชมลูกน้อง
รักลูกน้องไม่เท่ากัน ลำเอียง อคติ เลือกที่รักมักที่ชัง
เจ้านายเจ้าชู้ (สาวๆที่มีเจ้านายเป็นผู้ชาย)
ขี้โม้โอ้อวดว่าตัวเองเก่ง ดูถูกลูกน้อง
ฯลฯ

ปัญหาของ “เจ้านาย” ส่วนใหญ่อยู่ที่ใจของลูกน้องมากกว่าเกิดจากตัวเจ้านาย ลองพิจารณาดูดีๆซิครับว่า ไม่ว่าเราจะมีเจ้านายแบบไหน เราก็ยังสามารถหาข้อไม่ดีของเจ้านายมาบ่นได้อยู่ดี วันแรกๆที่เข้าไปทำงานกับเจ้านายคนนั้นใหม่ ทุกอย่างดูเหมือนจะสดใสไปหมด แต่พอทำงานไปสักระยะหนึ่ง รู้สึกว่าความสัมพันธ์ทางใจของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้าเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งๆที่หัวหน้ายังเป็นคนเดิม นิสัยเดิม เพราะใจเราเปลี่ยนไปต่างหาก


เรามักจะหาข้อผิดมาดิสเครดิตทางใจของเจ้านาย เหมือนการแข่งกีฬาที่มีระบบการให้คะแนนแบบเต็มไว้ก่อน แล้วเมื่อทำผิดค่อยนำมาหักทีละจุดๆ เช่น ยิมนาสติกก่อนเล่นทุกคนมีคะแนนเต็มสิบ ถ้าพลาดตรงไหนก็จะถูกหักคะแนนในจุดนั้น (เหมือนรายการทำผิด อย่าเผลอ อะไรทำนองนั้น) สุดท้ายแล้วคนที่เก่งที่สุดคือคนที่ได้คะแนนเสมอตัว (ได้คะแนนเท่ากับคะแนนเต็มที่ให้ไว้) ไม่เหมือนกีฬาบางประเภท เช่น ฟุตบอลมีการนับแต้มที่ทำได้และบวกขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด


แน่นอนว่าถ้าเราให้คะแนนเจ้านายแบบยิมนาสติก ดีที่สุดคือเขาจะมีคะแนนในใจเราเพียงแค่เสมอตัว ไม่รักและไม่เกลียด แต่ถ้าเราให้คะแนนเจ้านายแบบฟุตบอล ทำดีเมื่อไหร่ใส่คะแนนบวก ถูกใจเราเมื่อไหร่ก็ใส่คะแนนบวก ถ้าคิดอย่างนี้เจ้านายทุกคนก็มีโอกาสมีกำไรบ้าง ไม่ใช่มีทางเลือกเพียง “เจ๊า” กับ “เจ๊ง” ในสายตาของลูกน้อง

ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงปัญหาเจ้านายไม่ได้ เราก็มีทางเลือกและทางออกเพียงไม่กี่ทางคือ

ทะเลาะกับเจ้านาย ทะเลาะกับเจ้านายทีไร ลูกน้องเสียเปรียบวันยังค่ำ เพราะโอกาสที่เจ้านายจะถูกย้ายไปหน่วยงานอื่นนั้นยากกว่าลูกน้องจะถูกย้าย เพราะตำแหน่งเจ้านาย(หัวหน้า) มีน้อยกว่าตำแหน่งลูกน้อง โอกาสที่ลูกน้องจะไปชี้แจงให้ผู้บริหารระดับสูงรับทราบก็น้อยกว่าเจ้านาย เพราะผู้บริหาร(ซึ่งทุกคนก็มีตำแหน่งเป็นเจ้านายาอีกตำแหน่งหนึ่ง)มักจะมองว่าลูกน้องคนไหนทะเลาะกับเจ้านาย แสดงว่าหัวแข็งปกครองยาก ดูแล้วโอกาสรอด.....ยากมากครับ
เซย์กู๊ดบายไปหาเจ้านายใหม่ นี่ก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่หลายๆคนชอบใช้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องทนอยู่กับเจ้านายมีปัญหา หนีปัญหาดีกว่า คนที่คิดแบบนี้ผมรับรองได้เลยว่าชีวิตนี้เขาจะเปลี่ยนงานเป็นอาชีพ เพราะไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็จะมีปัญหากับหัวหน้าอยู่ดี หัวหน้าคนนี้อาจจะมีปัญหาอย่างหนึ่ง หัวหน้าอีกคนก็จะมีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถหาเจ้านายในฝันได้หรอกครับ
ทนอยู่จนกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะจากไป บางคนใช้วิธี “ใครเหนียวกว่ากัน” คนประเภทนี้ไม่หนีและไม่สู้ซึ่งหน้า เจ้านายจะให้ทำอะไรก็ไม่ขัด แต่ก็ทำแบบขอไปที ไม่ให้มีความผิดจนเจ้านายไล่ออกได้ หรือไม่ทำเสียจนดูเหมือนเอาใจเจ้านาย กลุ่มนี้จะยึดคติที่ว่าจะอยู่ไปจนกว่าจะมีทางไปที่ดีหรือไม่ก็เจ้านายจำใจต้องจากไปเอง
เปลี่ยนใหม่หันมาเอาใจนายดีกว่า บางคนมีเหตุผลส่วนตัวที่จะต้องอยู่กับองค์กร ไม่สามารถเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่นได้ เช่น สามีหรือภรรยาอยู่ที่นี่ บริษัทนี้อยู่ใกล้บ้าน ที่นี่สวัสดิการดี อายุมากแล้ว ออกไปอยู่ที่อื่นคงจะยาก ในเมื่อเสียเปรียบหัวหน้าทุกประตู อย่างนี้ก็แปรพักตร์ไปอยู่ฝั่งเจ้านายดีกว่า ไม่ต้องสนใจว่าเราจะชอบเจ้านายหรือไม่ แต่ขอให้เป้าหมายหลักของเราอยู่ก็พอแล้ว ยอมให้คนอื่นว่า “ชเลียร์” ก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงก็ยังมีงานทำ มีเงินเดือนใช้
บริหารเจ้านายซะ มีไม่กี่คนที่คิดถึงวิธีนี้ เพราะส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาเจ้านายด้วยอารมณ์มากกว่าการใช้สติ ลูกน้องมักจะมองเจ้านายไปในแง่ลบมากว่าแง่บวก การบริหารเจ้านายเป็นทางเลือกและทางออกที่ลูกน้องยุคใหม่ควรจะนำไปใช้ เพราะนอกจากจะอยู่ร่วมกันกับเจ้านายได้อย่างสบายแล้ว ยังสามารถพัฒนาทักษะในการบริหารจัดการคน(ที่สูงกว่า) ได้เป็นอย่างดี

ลองมาดูกันต่อไปนะครับว่าทำไมเราต้องเลือกวิธีการบริหารเจ้านายมากกว่าวิธีอื่น หรือถ้าเราไม่บริหารเจ้านายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น


ถ้าเราไม่บริหารนาย นายจะบริหารเรา
โดยธรรมชาติแล้ว เจ้านายต้องบริหารลูกน้องอยู่แล้ว เจ้านายมักจะวางแผน สั่งงาน ติดตามงาน ควบคุมงาน ประเมินผลงานของลูกน้อง ถ้าเราเป็นลูกน้องโดยธรรมชาติเหมือนกัน รับรองได้ว่าวันๆหนึ่งเราจะต้องนั่งรอว่าเจ้านายจะสั่งงานอะไรบ้าง วันๆเราจะต้องคอยทำงานคำสั่งที่เจ้านายต้องการ คอยมานั่งตอบว่างานนั้นงานนี้ไปถึงไหนแล้ว เราจะต้องทำงานที่มีเดทลายน์ไปตลอด เพราะเจ้านายมักจะกำหนดงานเพราะกับวันส่งหรือวันเสร็จมาให้เสมอ ถ้าเจ้านายเราคือกระแสน้ำ แน่นอนว่าเราไม่อาจจะป้องกันไม่ให้มันไหลได้ แต่ถ้าเราเตรียมตัวล่วงหน้าเราอาจจะไม่ถูกกระแสน้ำพัดจนจมหายไป ถ้ายิ่งเราวางแผนบริหารจัดการกับกระแสน้ำนั้นได้ เผลอๆเราอาจจะใช้ประโยชน์จากกระแสน้ำนั้นได้ เช่น การค่อยๆเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำไปยังทิศทางที่เราต้องการมากกว่าให้มันไหลไปตามธรรมชาติ
นายเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงบ่อย
เหตุผลหนึ่งที่เราจะต้องหันมาเลือกวิธีการบริหารเจ้านาย เพราะเจ้านายเกือบทุกคนจะมีการเปลี่ยนแปลงความคิด แนวทาง วิธีการทำงานบ่อยๆ จนบางครั้งลูกน้องรู้สึกหงุดหงิด ถ้าเจ้านายทุกคนไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง เราคงไม่ต้องมานั่งบริหารเจ้านายให้เมื่อยหรอกนะครับ
เจ้านายมีหลากประเภท หลายสไตลน์
เจ้านายก็คือคนๆหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของเอกบุรุษหรือสตรีที่ไม่เหมือนใคร เจ้านายคนหนึ่งเป็นแบบนี้ เจ้านายอีกคนเป็นแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นสไตลน์การบริหาร ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพส่วนบุคคล ดังนั้น ถ้าเราไม่พร้อมสำหรับการบริหารเจ้านาย รับรองได้ว่าโอกาาสพลาดของเรามีเยอะ เพระาไม่พลาดกับเจ้านายคนนี้ก็อาจจะพลาดกับเจ้านายอีกคนหนึ่ง
ถ้าบริหารนายได้ จะทำงานง่ายขึ้น
ถ้าเราสามารถบริหารเจ้านายได้ การทำงานทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น เพราะบางเรื่องเราสามารถชี้นำความคิดเจ้านายให้เข้าทางเราได้ บางเรื่องเราสามารถโน้มน้าว ต่อรองให้เจ้านายเห็นด้วยกับแนวทางการทำงานของเราได้ เมื่อเจ้านายและลูกน้องมีความชัดเจนในการตกลงเป้าหมายการทำงานร่วมกันแบบเห็นชอบด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว
นายไม่มีเวลาบริหารตัวเอง เพราะมัวแต่บริหารคนอื่น
เจ้านายส่วนใหญ่มักจะมองออกไปข้างนอก(ตัวเอง) คือมุ่งเน้นแต่การบริหารคนอื่น(ลูกน้อง) ดังนั้น จุดอ่อนอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นและเป็นโอกาสให้กับเราในฐานะลูกน้องคือ เจ้านายขาดการบริหารตัวเอง จุดอ่อนนี้น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถบริหารเจ้านายได้
ถ้าเติบโต เรามีโอกาสโตตาม
ถ้าเรามีส่วนช่วยบริหารเจ้านายให้เติบโตในหน้าที่การเงินได้เร็วเท่าไหร่ มากเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะโตตามเจ้านายก็มีมากขึ้นเท่านั้น เพราะถ้าเราบริหารเจ้านายได้ดี แล้วเจ้านายจะขาดเราไม่ได้ พูดง่ายๆว่าถ้าเจ้านายได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นไป เขาจะต้องหนีบเราติดไปด้วย เพราะยิ่งสูงยิ่งหนาว ต้องการเพื่อนที่รู้ใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น
นายคือเครื่องมือที่ทรงพลังของเรา
ถ้าเรามองโลกในแง่ดีแล้ว เราจะพบว่าเจ้านายคือเครื่องมือการทำงานที่ทรงพลัง เพราะเจ้านายมีทั้งอำนาจบารมี ในบางโอกาสเจ้านายสามารถนำเสนองานต่อผู้บริหารแทนเราได้ เจ้านายสามารถจัดการกับหน่วยงานอื่นที่มีปัญหากับเราได้ เราสามารถใช้เจ้านายให้เป็นที่ปรึกษาให้เราได้ในหลายๆเรื่อง เราสามารถใช้เจ้านายเป็นผู้ที่ให้ความรู้กับเราได้
นายคือฝ่ายการตลาดของเรา
เจ้านายคือช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตจากการทำงานของเรา บางครั้งเจ้านายเอาผลผลิต(งาน)ของเราไปขายให้ผู้บริหาร บางครั้งเอาไปขายให้กับหน่วยงานอื่น เอาไปขายให้พนักงาน ในขณะเดียวกันเจ้านายถือเป็นช่องทางในการทำการตลาด การโฆษณาตัวเรา ผลงานของเราได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่สามารถไปโฆษณาผลงานและความสามารถของตัวเราเองได้ ต้องอาศัยเจ้านายซึ่งมีเครือข่ายที่ดีกว่าเราช่วยทำการตลาดให้กับเรา
เพื่อความสบายใจของเราเอง
มีคำกล่าวว่า “ในโลกนี้ทุกคนมีอิสระในการเลือกอยู่ตลอดเวลา” ในการทำงานกับเจ้านายก็เหมือนกัน เรามีทางเลือกตลอดเวลา เช่น เราไม่สามารถเลือกเจ้านายได้ก็จริง แต่เราก็มีทางเลือกที่จะทำงานอย่างมีความสุขหรือเลือกที่จะทำงานอย่างมีความทุกข์กับเจ้านายคนนั้นๆ ถึงแม้เราเลือกจะมีความทุกข์กับเจ้านายคนนั้น เราก็ยังมีทางเลือกต่อไปอีกว่า เราจะทำงานอย่างมีความทุกข์ระดับไหน มาก ปานกลาง น้อย และเราก็ยังเลือกได้ต่อไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
นายคือทางผ่านของสะพานชีวิต
คิดว่าเสียว่าการบริหารเจ้านายคือการบริหารตัวเอง ถ้าเราผ่านการบริหารเจ้านายได้หลายคนหลายแบบ แสดงว่าเราได้ผ่านการทดสอบในการพัฒนาตัวเองไปมาก เจ้านายคือสะพานสู่ความสำเร็จในชีวิตของเรา บางช่วงของชีวิตอาจจะเจอสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี บางช่วงอาจจะเจอสะพานไม้แผ่นเดียว บางช่วงอาจจะเจอสะพานแขวนที่แกว่งไปแกว่งมา ยิ่งเราผ่านสะพานมาทุกรูปแบบยิ่งทำให้เราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ฝึกซ้อมก่อนที่เราจะเป็นนาย
ถ้าเจ้านายเป็นนักมวย เราอาจจะเป็นเพียงคนล่อเป้าให้นักมวยชก วันนี้เราอาจจะเจ็บตัวบ้างก็ยอมไปเถอะครับ วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้าเมื่อเรามีโอกาสเป็นนักมวยตัวจริง (เจ้านาย) เราจะรู้ได้ทันทีว่าจุดอ่อนจุดแข็งของนักมวยส่วนใหญ่อยู่ตรงไหน เราจะได้หาทางป้องกันได้อย่างถูกต้อง การที่เราบริหารเจ้านายก็เท่ากับว่าเราได้ฝึกซ้อมการเป็นเจ้านายไปในตัว เพราะการที่เราจะบริหารเขาได้ เราก็ต้องไม่คิดต่างไปจากเขา เราต้องรู้ทันความคิดของเจ้านาย เมื่อเราฝึกคิดแบบเจ้านายบ่อยๆ ก็เท่ากับว่าเราได้ฝึกซ้อมการคิดแบบคนที่เป็นเจ้านายไว้ล่วงหน้า

ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดคงจะพอสรุปได้ว่า การบริหารเจ้านายเป็นทางออกและทางเลือกให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ลูกน้องทุกคน เมื่อเราในฐานะลูกน้องเริ่มเห็นความสำคัญและความจำเป็นตรงนี้แล้ว ลองมาดูกันต่อนะครับว่า มีเทคนิควิธีการอย่างไรบ้างในการ “บริหารเจ้านาย” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในความเป็นจริงแล้ว เทคนิคการบริหารเจ้านายมีเยอะแยะมากมาย แต่ผมจะขอยกตัวอย่างที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้งานง่ายๆดังนี้ครับ

อย่าให้เจ้านายมีเวลาว่าง
โดยธรรมชาติของเจ้านายที่มีหน้าที่หางานให้ลูกน้องทำ เพราะเจ้านายส่วนใหญ่จะมีเวลาว่างมากกว่าลูกน้อง จึงมักจะคิดโน่นคิดนี่ แต่ไม่คิดเปล่า ชอบเอาความคิดที่เกิดขึ้นในหัวมามอบหมายให้ลูกน้องไปลองทำ และผลพวงทางความคิดของเจ้านายที่มักจะมอบหมายให้เรามักจะมาพร้อมกับวันกำหนดส่ง ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะถูกเจ้านายบริหารเสียมากกว่าจะบริหารเจ้านาย แนวทางที่เราสามารถบริหารเจ้านายได้ทางหนึ่งก็คือ พยายามคิดโครงการและนำเสนอโครงการให้เจ้านายบ่อยๆ และให้มีจำนวนโครงการมากเพียงพอที่ไปลดเวลาว่างของเจ้านายลงได้ พูดง่ายๆคือหลอกให้เจ้านายยุ่งอยู่กับโครงการที่เรานำเสนอไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อไหร่ที่เราเป็นผู้เสนอโครงการ เราคือผู้กำหนดชะตากรรมของตัวเอง อย่างน้อยเราก็เป็นคนกำหนดสิ่งที่ต้องทำ เราเป็นคนกำหนดเวลาที่จะทำ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็สามารถใช้โครงการเหล่านี้เป็นเครื่องมือลดเวลาว่างของเจ้านายลงได้อย่างแน่นอน และไม่ต้องกลัวว่าถ้าเจ้านายอนุมัติโครงการทั้งหมดมาแล้ว เราจะไม่ยุ่งกว่าเดิมหรือ เพราะโดยธรรมชาติของเจ้านายส่วนใหญ่ชอบติมากกว่าที่จะเห็นด้วย
จงเข้าหาเจ้านายเวลาเจ้านายอารมณ์ไม่ดี
โดยธรรมชาติของลูกน้อง มักจะเลือกที่จะไม่เข้าหาเจ้านายเวลาเจ้านายอารมณ์ไม่ดี เพราะกลัวโดนลูกหลง กลัวอารมณ์มือสอง จึงทำให้เจ้านายถูกโดดเดี่ยวจากลูกน้อง และเจ้านายเองก็ไม่ค่อยมีที่ปรึกษาเมื่อมีปัญหาทางจิตใจ เราในฐานะลูกน้องมืออาชีพ จึงควรฉกฉวยจังหวะนี้เปลี่ยนวิกฤติของเจ้านายให้เป็นโอกาสของเรา โดยการเข้าไปหาเจ้านายเวลาเจ้านายมีปัญหาหรืออารมณ์ไม่ดี ยอมโดนลูกหลง ยอมเป็นที่ระบายอารมณ์เพียงไม่กี่นาที แต่สิ่งที่เราจะได้คือ เจ้านายจะรู้สึกผิดที่ระเบิดอารมณ์ใส่เราโดยที่เราไม่มีความผิดอะไร ยิ่งทำกับเราบ่อยๆ แล้วเราไม่โกรธ ยิ่งจะทำให้เจ้านายเกิดความรู้สึกผิด เกรงใจและคอยหาโอกาสชดใช้ความผิดกับเรา เช่น เวลาจะด่าเราก็มีอารมณ์ส่วนลดเพื่อชดเชยความผิดที่เจ้านายเคยด่าเราโดยที่เราไม่มีความผิดมาบ่อยๆ การเข้าหาเจ้านายตอนที่อารมณ์ไม่ดี จะสร้างพฤติกรรมที่เจ้านายคุ้นเคยที่ทุกครั้งเวลาอารมณ์ไม่ดี จะติดเรา จะคอยถามหาเรา เพื่อต้องการระบายอารมณ์ เมื่อถึงตอนนั้น เราคือที่ปรึกษาส่วนตัวของเจ้านายไปโดยอัตโนมัติโดยที่เจ้านายไม่รู้สึกตัว เข้าทำนองที่ว่า “ขาดฉันแล้วเธอ (เจ้านาย) จะรู้สึก (เหงา)”
จงทะยอยสร้างผลงานไว้ให้มีกินไปนานๆ
อะไรก็ตามที่เขา(เจ้านาย)รู้หมดในครั้งเดียว โอกาสที่จะสร้างเซอร์ไพรส์จะไม่มีเหลือ เช่น มีฝีมือเท่าไหร่แสดงหมด ฝีมือที่เราแสดงออกไปอาจจะกลับมาเป็นดาบแทงตัวเอง เพราะการทำงานครั้งแรกคือมาตรฐานการทำงานที่อยู่ในใจเจ้านาย วันไหนเราทำงานต่ำกว่าที่เราเคยทำ กลับกลายเป็นว่าเราทำงานต่ำกว่ามาตรฐานในใจเจ้านาย (ถึงแม้ว่าจะสูงกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบก็ตาม) ดังนั้น จงวางแผนที่จะนำเอาฝีมือที่เรามีออกมาโชว์เจ้านายเป็นช่วงๆ เหมือนกับการทำโปรโมชั่นให้เลือกค้าซื้อสินค้า ถ้าเรามีทางเลือกในการงัดฝีมือมาใช้มากเท่าไหร่ โอกาสที่ผลงานเราจะเข้าตาเจ้านายก็มีมากขึ้นเท่านั้น บางช่วงอาจจะทำเพียงรักษาระดับผลงานอย่าให้อยู่นอกสายตาเจ้านายก็พอแล้ว แต่บางช่วงบางจังหวะต้องงัดเอาฝีมือออกมาโชว์ให้เต็มที่ โดยเฉพาะตอนที่เจ้านายอยู่ในภาวะคับขันต้องการความช่วยเหลือ ตอนที่เจ้านายมีปัญหารุมเร้ามากมาย การที่เราเสนอตัวเข้าไปช่วยแค่เพียงเรื่องเล็กน้อย เจ้านายก็ถือเป็นเรื่องใหญ่เป็นผลงานขึ้นมาทันที
จงบริหารใจนาย
เจ้านายคือคนธรรมดาคนหนึ่ง ย่อมมีจุดอ่อนในชีวิตไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนโดยลักษณะนิสัย เช่น เป็นคนใจร้อน เป็นคนที่ไม่ค่อยละเอียดรอบคอบ ฯลฯ หรือจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาตามลักษณะของปัญหาที่เข้ามารุมเร้า เราจงคอยเฝ้าดูว่าอะไรคือจุดอ่อนของเจ้านาย เมื่อไหร่เจ้านายมีจุดอ่อน แล้วคอยหาจังหวะเข้าไปคุย เข้าไปเป็นเพื่อน และประเด็นสำคัญคือ จงอาสาทำงานที่เจ้านายอยากจะทำมาก แต่ลูกน้องคนอื่นไม่ค่อยอยากจะทำ นี่คือโอกาสอันดีที่เราจะซื้อใจเจ้านายได้ เพราะการอาสาของเราคือความหวังของเจ้านาย โดยเฉพาะโครงการที่เป็นความอยากส่วนตัวของเจ้านาย นอกจากนี้ ลูกน้องมืออาชีพต้องสามารถวิเคราะห์ลักษณะนิสัยใจคอเจ้านายออกว่า เจ้านายเราเป็นคนอย่างไร เช่น เจ้านายบางคนหน้าใหญ่ เจ้านายบางคนชอบคนยกยอ เจ้านายบางคนชอบคนเก่ง ฯลฯ ดังนั้น เราควรจะทำงานให้ถูกใจและตรงกับลักษณะนิสัยของเจ้านาย
จงเถียงเจ้านายเรื่องความคิดเห็น แต่อย่าเถียงเรื่องข้อเท็จจริง
การเป็นผู้ตามเพียงอย่างเดียว เจ้านายบางคนไม่ชอบ แต่จะชอบลูกน้องที่มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง เพื่อให้เจ้านายได้มีโอกาสประลองวิชาความรู้ ถ้าเราอยากจะเป็นบุคคลที่มีคุณค่าในสายตาเจ้านายจงหัดเถียงเจ้านายบ้าง แต่ขอแนะนำว่าควรจะเถียงกับเจ้านายในเรื่องที่เป็นความคิดเห็นจะดีกว่า เพราะโอกาสผิดนั้นมีน้อย (เพราะมันเป็นความคิดเห็น) และไม่มีใครผิด ไม่มีใครเสียหน้า เจ้านายมีโอกาสใช้บารมีข่มเราให้ยอมรับความคิดเห็นของเขาได้ เราก็ยอมได้เพราะมันเป็นเพียงความคิดเห็น แต่...ถ้าเราไปเถียงกับหัวหน้าเรื่องข้อมูลหรือข้อเท็จจริง สามารถพิสูจน์ได้ง่ายว่าเราหรือเจ้านายผิด ถ้าเราผิดจะกลายเป็นชะนักติดหลังเราไปที่อยู่ในใจเจ้านายไปตลอด แต่ถ้าเจ้านายผิด จะทำให้เจ้านายเสียนายถึงแม้ว่าไม่มีใคร(นอกจากเรา)รู้ก็ตาม
อย่าเอาใจ แต่ต้องรู้ใจ
การบริหารเจ้านาย เราจะต้องรู้ใจ แต่..อย่ามัวแต่เอาใจเจ้านายจนเกินหน้าเกินหน้า เผลอๆทำให้เจ้านายเกิดอาการสะอิดสะเอียนได้ แต่ขอให้รู้ใจว่าในแต่ละช่วงเวลาเจ้านายต้องการอะไร เช่น บางครั้งเจ้านายต้องการให้เราเป็นผู้ฟัง บางครั้งเจ้านายต้องการให้เรามีส่วนร่วม บางครั้งเจ้านายต้องการคนยืนยันความคิดของเจ้านาย บางครั้งเจ้านายต้องการข้อมูลสนับสนุน คนที่เป็นลูกน้องที่เก่งๆ จะต้องมองตาแล้วรู้ใจว่าในแต่ละช่วงเวลา เจ้านายต้องการอะไร และเราค่อยตอบให้ตรงใจเจ้านาย บางครั้งลhttp://www.blogger.com/img/blank.gifงทุนเพียงแค่พยักหน้าเห็นด้วย ก็อาจจะได้คะแนนในใจเจ้านายไปเพียบแล้ว


สรุป การบริหารเจ้านายถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในการทำงานปัจจัยหนึ่ง นอกเหนือจากฝีมือและความสามารถในการทำงานแล้ว เพราะเจ้านายคือผู้ที่จะแปลงความสามารถของเราเป็นคุณค่าทั้งในสายตาเจ้านายเองและผู้อื่น และถ้าเราสามารถบริหารเจ้านายได้โดยที่เจ้านายไม่รู้ตัวแล้ว ถือว่าเป็นความสำเร็จอของลูกน้องมืออาชีพ และวันหนึ่งเวลาเราขึ้นไปเป็นหัวหน้า เราก็จะรู้ทันลูกน้อง รวมถึงสามารถล่วงรู้ใจของลูกน้องได้โดยไม่ยากเช่นกัน

Credit: http://www.peoplevalue.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539104746&Ntype=10
อ่านบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เป้าหมายประจำวัน (Daily Success)



By Nick

เชื่อว่าแทบทุกคนเคยถามตัวเองว่า "เป้าหมายในชีวิตเราคืออะไร" เชื่ออีกว่าแทบทุกคนต้องคิดว่า มีชีวิตสุขสบาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีเรื่องให้เครียดเศร้าหมอง คนเราคงไม่ต้องการอะไรมากมายไปกว่านี้เท่าไหรนัก แต่เราเคยมานั่งขบคิดต่อมั้ยว่า เอ๊ะ เราจะทำเช่นไร เพื่อให้เรามีชีวิตแบบนั้น.... ผมนึกถึงเรื่องนี้ตอนอาบน้ำ

จากจุดนี้เองระหว่างที่ผมกำลังใช้เวลาหลังอาบน้ามนั่งท่องทะเลอิเล็กทรอนิคไปเรื่อยๆ ไปเจอะบทความนี้เข้า น่าสนใจดีวันนี้เลยอยากมานำเสนอบทความที่เกี่ยวกับการหาเป้าหมายให้กับชีวิต โดยเริ่มจากชีวิตประจำวันนี่แหละ บางครั้งเรามองภาพกว้างเกินไป มองไกลเกินไป จนลืมมองว่า ข้างหน้าที่เราจะเจอคืออะไร ลองอ่านบทความนี้ดู อาจทำให้ชีวิตเราเดินช้าลง กลับมามองตัวเรามากขึ้น แล้วจะพบว่า วันๆนึงมีอะไรให้สำเร็จ อย่างมากมาย


การกำหนดเป้าหมายประจำวัน : จุดเริ่มต้นของความสำเร็จในชีวิต

ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะมีเป้าหมายในชีวิตกันทุกคน บางคนอยากประสบความสำเร็จด้านการงาน บางคนต้องการประสบความสำเร็จด้านการเงิน ด้านการศึกษา ด้านครอบครัว เช่น บางคนตั้งใจจะศึกษาต่อตั้งแต่เพิ่งเริ่มทำงาน ตอนนี้ทำงานผ่านไปแล้วสิบปีก็ยังไม่ได้เริ่ม บางคนตั้งใจจะเก็บเงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ ถึงตอนนี้ยังไม่มีเงินเก็บเลยแม้แต่บาทเดียว (มีแต่เงินที่เก็บไว้ใช้หนี้ตอนสิ้นเดือน) บางคนอยากจะไปเที่ยวเมืองนอก ถึงตอนนี้ได้ไปเพียงแค่นอกเมือง อีกสารพัดเป้าหมายที่เรามักจะไม่ได้ตามเป้า

แต่ถ้าลองพิจารณาดูให้ดีเรามักจะพบว่าเป้าหมายนั้นๆมักจะไม่ค่อยก้าวหน้า มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จนั้นเหตุผลสำคัญไม่ได้อยู่ที่เราไม่มีความสามารถ เราไม่มีโชค แต่...อยู่ที่ขาดการวางแผนการปฏิบัติสู่เป้าหมายนั่นเอง บางคนอาจจะบอกว่ามีแผนชัดเจนว่าปีนั้นปีนี้จะทำอะไร เท่านี้ยังไม่พอหรอกครับ แผนปฏิบัติที่ผมหมายถึงในที่นี้คือแผนปฏิบัติรายวัน รายสัปดาห์และรายเดือน

การกำหนดเป้าหมายและแผนการปฏิบัติรายวันคือหัวใจสำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายระยะยาวในชีวิตที่เรากำหนดไว้ เช่น เราต้องการเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงระดับโลกภายใน 10 ปี ต้องการเป็นผู้บริหารภายใน 5 ปี แต่ถ้าวันนี้ พรุ่งนี้เรายังไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรบ้าง รับรองได้ว่าโอกาสที่เป้าหมายนี้จะประสบความสำเร็จคงจะไม่มีเลย

ถ้าบอกว่าให้เราเดินทางไกล 100 กิโลเมตร ถ้าบอกว่าให้เราอ่านหนังสือปีละ 12 เล่ม ถ้าบอกให้เราเก็บเงินปีละ 18,250 บาท ถ้าบอกให้เราท่องศัพท์ภาษาอังกฤษปีละ 182 คำ ถ้าบอกให้เราออกกำลังกายปีละ 100 ครั้ง ฯลฯ เราจะรู้สึกว่าเป้าหมายเหล่านี้ยากมาก หรือเป็นไปไม่ได้

แต่...ถ้าเราแตกเป้าหมายใหญ่ลงมาเป็นเป้าหมายย่อยรายวันเราก็จะได้เป้าหมายใหม่ดังนี้ เดินวันละ 500- 600 ก้าว (ปกติเราก็เดินมากกว่านี้อยู่แล้ว) หรือถ้ายังยากอยู่ก็ให้ตั้งเป้าหมายชั่วโมงละ 20 – 25 ก้าว อ่านหนังสือวันละ 1 หน้า เก็บเงินวันละ 50 บาท ท่องศัพท์วันละครึ่งคำ(สองวันต่อหนึ่งคำ) ออกกำลังกายวันสามวันต่อหนึ่งครั้ง(สัปดาห์ละ 2 ครั้ง) เราจะเห็นว่าเป้าหมายในชีวิตที่ยากๆจะง่ายขึ้น

สำหรับเทคนิคที่จะช่วยให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายชีวิตประจำวันมีดังนี้

1) แตกเป้าหมายหลักหรือเป้าหมายใหญ่ๆให้เล็กลงจนถึงเป้าหมายระดับรายวัน เหมือนกับการที่บริษัทตั้งยอดขายรวม แล้วค่อยๆแตกเป้าหมายของยอดขายมาถึงตัวแทนขายแต่ละคน เป้าหมายในชีวิตคนเราก็เช่นเดียวกัน

2) เลิกมองเป้าใหญ่ เมื่อเราแตกเป้าหมายลงมาเป็นเป้าหมายรายวันแล้ว ขอให้โฟกัสชีวิตมาที่รายวัน เพราะถ้าทุกวันเราประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของเป้าหมายใหญ่ไม่หนีไม่ไหนแน่นอน ถ้าเรายังเหลือบไปมองเป้าหมายใหญ่อยู่บางครั้งอาจจะทำให้เราท้อแท้ได้ เช่น ในขณะที่เราวิ่งหนึ่งพันเมตรถ้าเรามองเป้าไปที่การวิ่งแต่ละก้าว เราจะไม่ค่อยเหนื่อย แต่ถ้าเราเผลอมองไปข้างหน้าและเห็นระยะทางอีกยาวไกล อาจจะทำให้ใจเราท้อเสียก่อน

3) การจัดลำดับเป้าหมายชีวิตรายวัน เนื่องจากในชีวิตคนเรามีเป้าหมายหลายอย่าง หลายด้าน เมื่อแตกย่อยลงมาเป็นเป้าหมายรายวันแล้ว อาจจะทำให้เป้าหมายแต่ละเรื่องตีกัน เราควรจะจัดลำดับความสำคัญ จัดเวลาให้เป้าหมายแต่ละตัวให้ชัดเจน เช่น เป้าหมายที่ต้องทำทุกวันอาจจะต้องทำก่อน เป้าหมายที่ทำสัปดาห์ละครั้งสองครั้งอาจจะทำทีหลัง เป้าหมายไหนต้องทำในเวลาที่แน่นอนจะต้องทำก่อนเป้าหมายที่ไม่ได้กำหนดเวลา เช่น เป้าหมายในการสวดมนต์ก่อนนอนจะต้องทำเฉพาะเวลานอนเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่ควรมีเป้าหมายอย่างอื่นมาแทรกในช่วงนี้

4) จดบันทึก/วางแผน/ผลการบรรลุเป้าหมายของแต่ละวัน ใครที่มีไดอารี่อยู่แล้วควรจะมีการกำหนด ทบทวนเป้าหมายทุกวันว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง เมื่อไหร่ เมื่อผ่านไปแล้วหนึ่งวันก็ให้จดบันทึกไว้ว่าเป้าหมายอะไรบ้างที่บรรลุอะไรบ้างที่ไม่บรรลุ เราจะได้นำไปแก้ไขปรับปรุงในการกำหนดเป้าหมายในวันต่อๆไปได้

5) จัดทำกราฟความก้าวหน้าของเป้าหมายรายวัน ถ้าเรานำเอาผลการบรรลุเป้าหมายมาจัดทำเป็นกราฟ นอกจากจะทำให้เรามองเห็นความสำเร็จที่ชัดเจนแล้ว ยังจะช่วยให้เรามีกำลังใจในการกำหนดเป้าหมายรายวันเพิ่มมากขึ้นด้วย

สรุป การกำหนดเป้าหมายชีวิตรายวันจะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่สำคัญๆในชีวิตได้ โดยที่เราจะไม่รู้สึกว่าเป้าหมายนั้นๆยากเกินไป สูงเกินไป เพราะในแต่ละช่วงเวลาโดยเฉพาะเวลาแห่งชีวิตหนึ่งวันนั้น ถ้าเรามองเป้าหมายห้าปีหรือสิบปีจะทำให้เราเกิดความท้อแท้เนื่องจากเรามองเป้าใหญ่ในเวลาที่จำกัดคือหนึ่งวันหรือยี่สิบสี่ชั่วโมง หรือเหมือนกับเราเดินผ่านโชว์รูมรถยนต์ที่มีราคาเป็นแสน แต่เมื่อล้วงกระเป๋าตังค์ออกมาดูเรามีเงินเพียงหลักพันบาท เรารู้สึกว่าเป้าหมายในการเป็นเจ้าของรถยนต์ราคาเป็นแสนนั้นห่างไกลมาก แต่ถ้าเราเทียบเงินในกระเป๋าตังค์วันนี้กับล้อรถยนต์หรือยางรถยนต์เป้าหมายของเราก็จะมีความใกล้เคียงมากขึ้น

สุดท้ายนี้หวังว่าทุกคนที่มีเป้าหมายความสำเร็จในชีวิต คงจะสามารถนำเทคนิคการกำหนดเป้าหมายชีวิตประจำวันไปใช้ได้บ้างนะครับ และอยากจะให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า ถ้าเรายังไม่สามารถวางแผน ดำเนินการกระทำและวัดผลของเป้าหมายชีวิตประจำวันได้แล้ว รับรองได้ว่าเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน



“ความสำเร็จเริ่มต้นจากการกระทำ การกระทำจะสำเร็จเริ่มต้นจากเป้าหมาย

เป้าหมายจะสำเร็จเมื่อเราเริ่มจากเป้าหมายที่ง่ายๆและสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน"




Credit : http://www.peoplevalue.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539104215&Ntype=1
อ่านบทความทั้งหมด