วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การรักษาศีล 5

By Prasit



       "ศีล" นั้น แปลว่า "ปกติ" คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับ คือ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และ ศีล 227 และในบรรดาศีลชนิดเดียวก็ยังจัดแยกออกเป็นระดับธรรมดา มัชฌิมศีล (ศีลระดับกลาง) และอธิศีล (ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์)
        
คำว่า "มนุษย์" นั้น คือผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ที่จะต้องทรงไว้ให้ได้ตลอดไปก็คือศีล 5 บุคคลที่ไม่มีศีล 5 ไม่เรียกว่ามนุษย์ แต่อาจจะเรียกว่า "คน" ซึ่งแปลว่า "ยุ่ง" ในสมัยพระพุทธกาลผู้คนมักจะมีศีล 5 ประจำใจกันเป็นนิจ ศีล 5 จึงเป็นเรื่องปกติของบุคคลในสมัยนั้น และจัดว่าเป็น "มนุษยธรรม" ส่วนหนึ่งในมนุษยธรรม 10 ประการเป็นปกติ (ซึ่งรวมถึงศีล 5 ด้วย) รายละเอียดจะมีประการใดจะไม่กล่าวถึงในที่นี้

      
การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน ทั้งในการถือศีลด้วยกันเอง ก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้คือ
1. การให้อภัยทาน
แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 5 แม้จะได้ถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
2.
การถือศีล 5
 
แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 8 แม้จะถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
3.
การถือศีล 8
แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 10 คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้แต่เพียงวันเดียวก็ตาม
4.
การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา
แล้วรักษาศีล 10 ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง 100 ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนา มีศีลปาฏิโมกข์สังวร 227 แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
ฉะนั้น ในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะเป็นเนกขัมมบารมีในบารมี 10 ทิศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูงๆ คือการภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อๆไป ผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก 6 ชั้น ซึ่งแล้วแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้งเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ หากไม่มีอกุศลกรรมอื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ 4 ประการ เช่นอานิสงส์ของการรักษาศีล 5 กล่าวคือ
(1)
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 1 ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะทำให้มีพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูเบียดเบียนให้ต้องบาดเจ็บ ไม่มีอุบัติเหตุต่างๆที่จะทำให้บาดเจ็บหรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันสมควร
(2)
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 2 ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้
ด้วยเศษของบุญที่นำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย การทำมาหาเลี้ยงชีพในภายหน้ามักจะประสบช่องทางที่ดี ทำมาค้าขึ้นและมั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่างๆ เช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย ฯลฯ
(3)
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 3 ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครอง หรือคนในปกครองของผู้อื่น
ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรัก มักได้พบรักแท้ที่จริงจังและจริงใจ ไม่ต้องอกหัก อกโรย และอกเดาะ ครั้นเมื่อมีบุตรธิดา ก็ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อด้าน ไม่ถูกผู้อื่นหลอกลวงฉุดคร่าอนาจารไปทำให้เสียหาย บุตรธิดาย่อมเป็นอภิชาตบุตร ซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล
(4)
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 4 ด้วยการไม่กล่าวมุสา
ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นผู้ที่มีสุ้มเสียงไพเราะ พูดจามีน้ำมีนวลชวนฟัง มีเหตุมีผล ชนิดที่เป็น "พุทธวาจา" มีโวหารปฏิภาณไหวพริบในการเจรจา จะเจรจาความสิ่งใดก็มีผู้เชื่อฟังและเชื่อถือ สามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดาและศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี
(5)
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 5 ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัยเครื่องหมักดองของมึนเมา
ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดก็แตกฉานและทรงจำได้ง่าย ไม่หลงลืมฟั่นเฟือนเลอะเลือน ไม่เสียสติวิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทราม ปัญญาอ่อนหรือปัญญานิ่ม
       
อานิสงส์ของศีล 5 มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล 8 ศีล 10 และ ศีล 227 ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นตามระดับและประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้จะมีอานิสงส์เพียงไร ก็ยังเป็นแต่เพียงการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลางๆในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาให้สงบ ไม่ให้ก่อให้เกิดทุกข์โทษขึ้นทางกายและวาจาเท่านั้น ส่วนทางจิตใจนั้น ศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้น การรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่าการภาวนา เพราะการภาวนานั้น เป็นการรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางหรือจนหมดกิเลส คือความโลภ โกรธ และหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ การภาวนาจึงเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงที่สุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญมากที่สุด เป็นกรรมอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า "มหัคคตกรรม" อันเป็นมหัคคตกุศล

32 ความคิดเห็น:

  1. ศีล 5 นั้น มีประโยชน์โดยรวม 2 ด้านคือ

    1.) เพื่อความสงบสุขของสังคม คือเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น อันจะส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ความหวาดระแวง และความวุ่นวายในสังคม

    2.) เพื่อพัฒนาจิตใจของผู้ที่ถือศีลนั้นเอง เพราะศีล 5 นั้น ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุม ไม่ให้มีการแสดงออกทางกาย หรือทางวาจา ไปในทางที่ตอบสนองอำนาจของกิเลส

    ตอบลบ
  2. การรักษาศีลถือว่าเป็นมงคลต่อชีวิตและคนรอบข้าง อย่างน้อยก็ขอให้รักษาศีลวันพระก็ถือเป็นมงคลต่อชีวิตแล้วครับ อนุโมทนาบุญดวยนะครับเจ้าของโพสนี้ครับ

    ตอบลบ
  3. ขอคุณ..คุณประสิทธิ์ ที่นำบทความดีๆมาให้อ่านทบทวนครับ ศีล 5 ข้อ ใครทำได้หมดชีวิตจะดีมีแต่ความสุขนะครับ

    ตอบลบ
  4. ข้อ2-3และ4ทำได้แต่ข้อ1กับ5แลจะยากการถือศีลนี้มันยากจริงๆนะเฮ้อ

    ตอบลบ
  5. ศีลแปลว่า"ปกติ" การรักษาศีลก็คือการทำตัวให้เป็นปกติ เช่นการดื่มสุราทำให้ร่างกายไม่ปกติทำให้ปวดหัว อาเจียน ต้องทุกข์ทรมาน และอาจขาดสติถึงกับไปทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นหากเราเป็นคนรักษาศีลประโยชน์ที่ได้รับก็คือเป็นคนปกติสุข

    ตอบลบ
  6. จะเห็นว่าศีล 5 ทั้ง 5 ข้อ ไม่ใช่เรื่องที่จะปฏิบัติได้ยากอะไรเลย แต่คนเรามักจะละเลยที่จะปฏิบัติกันเสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลข้อที่ 5 คือการงดจากการดื่มสุรา เนื่องจากสุรานอกจากจะมีราคาแพงแล้ว ยังไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นการทำลายร่างกายของตนเองเสียด้วย และที่สำคัญการดื่มสุราจะทำให้ขาดสติยั้งคิดและชักนำให้ทำผิดศีลที่เหลืออีก 4 ข้อได้โดยง่าย

    ตอบลบ
  7. สรุปแล้วผมคิดว่า ศีลข้อที่สำคัญที่สุดคือข้อ 5 เพราะถ้าเราขาดข้อ 5 หรือคุมศีลข้อนี้ไม่ได้ การรักษาศีลข้ออื่นๆก้จะขาดได้เลย

    ตอบลบ
  8. โดยปกติแล้ว การนับถือสินห้านั้น จริงๆแล้ว มันควรจะเป็นสิ่งที่ชาวพุทธเราทุกคนพึงปฏิบัติกันให้เป็นประจำ เพราะเป็นขั้นพื้นฐานของการเป็นคนดี ^^

    ตอบลบ
  9. บทสวดศีลห้า
    ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

    ตอบลบ
  10. พยายามรักษาศีล5ไว้ครับ บางครั้งอาจจะศีลขาดบ้างก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ยังมีความต้องการถ้าตัดได้ทุกอย่างก็ต้องบวชตามพระพุทธเจ้าไปเลย

    ตอบลบ
  11. 5 ข้อคงจะยากเกินไปนะครับสำหรับชีวิตประจำวันทุกๆวันนี้ การกินการอยู่ยังยุ่งยากเลย รักษาได้เป็นบางข้อคงจะพอแล้วนะครับผมว่า
    ข้อ 1 ใครอดกินเนื้อได้ก็ต้องเลิกลาบก้อย ยาก
    ข้อ 2 ห้ามลักทรัพย์แต่ยังแอบยักยอกเมียไว้กินเหล้า ยาก
    ข้อ 3 ห้ามบ้ากามแต่เรายังแหะๆๆๆๆกันอยู่ ยาก
    ข้อ 4 ห้ามพูดเท็จทุกวันยังต้องหลอกเมียอยู่ ยาก
    ข้อ 5 ห้ามกินเหล้าเมื่อคืนนี้จัดหนักยังไม่ส่างเลย ยากๆ ครับ

    ตอบลบ
  12. คงไม่มีใครมาคอยห้ามเราไม่ให้ทำโน้นทำนี้ได้นอกจากตัวเราเอง ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญสุดที่จะทำได้ทั้ง5ข้อนั้นคงหนีไม่พ้นตัวของเราเอง ที่ต้องเป็นผู้กระทำ ขอแค่ตั้งใจทำสักข้อนึงก็ส่งผลดีต่อตนเองและผู้อื่นแล้ว

    ตอบลบ
  13. จริงๆแล้วเราทุกคนควรรักษาศีล5 ไว้ให้ครบทั้ง5 ข้อโดยไม่ผิดศีลตามหลักพุทธศสนา แต่ในโลก ณ ปัจจุบันล้วนแล้วแต่มี กีเลส ปัญหาต่างๆมากมาย ยั่วยุเราทำให้ขาดศีลได้ ฉะนั้นแล้วเราก็ควรที่จะรักษาศีลไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถ้าใครที่สามารถรักษาศีลไว้ได้ครบทั้ง 5 ข้อ ผมเชื่อว่าจะเป็นมงคลชีวิตต่อใครคนนั้นอย่างมาก นอกจากจะเป็นผลดีต่อตัวเองแล้วยังเป็นผลดีต่อผู้อื่นอีกด้วย

    ตอบลบ
  14. ทำตัวให้เกินศีล 3 ข้อก็น่าจะถือว่าเป็นคนค่อนข้างจะดีนะ(โดยส่วนตัว)

    ตอบลบ
  15. ศีลห้าเราก็ปฎิบัติอยู่เป็นประจำและนั่งสมาธิขวบคู่กันไป สิ่งที่ได้ทำให้เรามีสติในการทำงาน ทำให้ชีวิติมีความสุขครับ

    ตอบลบ
  16. การรักษาศีล มีวัตถุประสงค์สำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

    1. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติปัจจุบัน ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

    2. เพื่อให้เกิดความสุข ความดีงาม ในการดำเนินชีวิต

    3. เพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็น และความดีงามแก่ครอบครัว และสังคม

    4. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติต่อไป ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น

    5. เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมที่สูงขึ้นไป ได้แก่ สมาธิ และปัญญา อันจะทำให้บรรลุ มรรคผลนิพพานได้

    ตอบลบ
  17. กระผมว่าเป็นเรื่องที่ดีน่ะครับถ้าหากเราปฏิบัติได้ทุกข้อ แต่สำหรับกระผมตั้งเป้าหมายไว้ต้องเกิน 2 ข้อ ครับ*คิดเราคิดและเราทำแค่นี้ผมก็ถือว่าคนๆนั้นเป็นคนดีแล้วหละครับ

    ตอบลบ
  18. รักษาศีล5 และทำสมาธิ ทุกวันจะทำให้คนคนนั้นมีแต่ความสุขความเจริญในชีวิต

    ตอบลบ
  19. ผมยังรักษาศีลไม่ครบครับ ขาด สุราอย่างเดียว

    ตอบลบ
  20. คนในปัจจุปันยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ รักษาศิลได้ยากต้องมีใจอ่อนโยน นอบน้อม

    ตอบลบ
  21. ศิลห้านั้นคนส่วนใหญ่รู้ว่ามีอะไรบ้างควรปฏิบัติอย่างไรแต่คนส่วนใหญ่ก็มักจาทำกันไม่ค่อยได้.

    ตอบลบ
  22. การรักษาศีล5เปนการรักษาศีลของคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักบวช เราสามารถปฏิบัติได้โดยที่จะทำเปนประจำหรือทำเฉพาะวันก็ไม่มีใครว่า ศาสนาพุทธเปนศาสนาที่ให้ความสะดวกแก่เรา เปนศาสนาที่ไม่บังคับทำ แต่อยู่ที่เราจะทำหรือไม่

    ตอบลบ
  23. การนั่งสมาธิคงจะเป็นทางเลือกอีกทางที่จะทำให้เรามีศีลธรรมนะครับ

    ตอบลบ
  24. ถ้ารักษาศิลสัก 3 ใน 5 ข้อได้ตลอดก็มีความสุขในการใช้ชีวิตล่ะครับ จิตสงบเข้าไว้

    ตอบลบ
  25. มั่นทำบุญเมื่อมีโอกาส แพร่ส่วนบุญให้เจ้ากรรมนายเวน จะทำให้ชีวิตดีขึ้นครับ

    ตอบลบ
  26. ใครที่ถือศิล 5 ได้ก็ขออนุโมธนาสาธุ

    ตอบลบ
  27. การถือศีล 5 เป็นการทำบุญวิธีหนึ่งที่ดีเลยทีเดียวเลยครับ

    ตอบลบ
  28. มิตรเฮดเดอร์ไฮเปอร์เรดซิ่ง11 มกราคม 2558 เวลา 17:59

    ใครปฏิบัติได้ ผมนี้ยินดีด้วยครับ

    ตอบลบ
  29. การรักษาศีลสามารถทำได้ทุกวัน ทำให้เกิดสมาธิแล้วจะทำให้เกิดปัญญาตามมาครับ

    ตอบลบ
  30. การรักษาศีลห้าถ้าทำได้ทุกวันก็จะดีมากครับได้บุญสูง

    ตอบลบ
  31. รักษาศีล 5 ให้ได้ครบทุกข้อถือว่าเยี่ยมแล้วครับ สำหรับมนุษย์ในชาตินี้

    ตอบลบ
  32. ข้อ1,2,3....พอรักษาได้ส่วน 4,5 คงจะไม่ได้สำหรับตัวผม..สาธุ.สาธุ

    ตอบลบ