วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2558

“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสังคมเทคโนโลยี

By Jiroch




 “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสังคมเทคโนโลยี ด้วยความหลากหลายของเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุให้การบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และกระจายไปสู่ประชากรทุกชนชั้น ทั้งโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์รุ่นใหม่ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ประกอบกับการก้าวกระโดดของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้การล้าสมัยของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดเป็นไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

 
ในปีหนึ่งๆ เราบริโภคสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์กันมากน้อยเพียงใด บางคนอาจจะตอบว่า เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุกปี เพราะรุ่นใหม่ๆ ออกมาอยู่ตลอด ถ้าไม่เปลี่ยนอาจจะตกเทรนด์ โดยเฉพาะโทรทัศน์จอแอลซีดี ที่มีราคาต่ำลงจนน่าตกใจ ยังไม่รวมคอมพิวเตอร์ ที่หลายท่านมีไว้ในครอบครองทั้งพีซีและโน้ตบุ้ค ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ หลายท่านก็ใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือเต็มอายุสินค้านัก ก็อาจจะเปลี่ยนใหม่ เรามักจะหาซื้อมาใช้กันมากมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเสื่อมสภาพการใช้งานเมื่อใด และจะนำไปกำจัดทิ้งอย่างไร เพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
นั่นทำให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไม่ตั้งใจในการสร้างกองภูเขาใหญ่ที่ชื่อ ขยะอิเล็กทรอนิกส์

ในวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี ให้ความหมายไว้ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเวสต์” (e-waste) เป็นของเสียที่ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหรือไม่มีคนต้องการแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นประเด็นวิตกกังวล เนื่องจากชิ้นส่วนหลายชิ้นในอุปกรณ์เหล่านั้น ถือว่าเป็นพิษ และไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้

ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีทุกวันนี้ยังมีส่วนเร่งให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในสภาพตกรุ่นเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีอัตราการเปลี่ยนเครื่องบ่อยที่สุด อายุการใช้งานของเครื่องคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 3-5 ปี ขณะที่โทรศัพท์มือถือมีอายุใช้งานเฉลี่ย 18 เดือน อายุการใช้งานบวกกับจำนวนผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกนั้น กำลังเป็นปัจจัยที่เพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมๆ กัน

ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกมีมากถึง 40 – 50 ล้านตันต่อปี ในประเทศไทยเองจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2546 ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 58,000 ตัน ในปี 2547 – 2548 มีการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มือสองจากญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี และสิงคโปร์ มากถึง 265,000 ตัน จะเห็นได้ว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากจนน่าตกใจ

ปัจจุบันปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่าของขยะมูลฝอยในชุมชน โดยเฉพาะขยะที่มาจากผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงรุ่นและตกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีการเลิกใช้ และถูกทิ้งเป็นขยะสะสมเป็นปริมาณมากตามความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ ประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของปลายทางขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก ซึ่งถูกแฝงมาในรูปของการนำเข้าสินค้าคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ใช้แล้วจากต่างประเทศ ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้น และพร้อมจะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ สร้างปัญหามลพิษต่อไป
ถ้าหากใครเคยไปเดินที่พันธ์ทิพย์ จะเห็นว่ามีคอมพิวเตอร์มือสองวางขายเป็นจำนวนมาก และคนก็ชอบซื้อ เพราะราคาถูกกว่า 50-70% เลยทีเดียว

วงจรชีวิตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนมาก ไม่ทราบถึงมหันตภัยร้ายแรงที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากวงจรชีวิตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การใช้สารพิษที่เป็นอันตรายอย่างสารปรอท ตะกั่ว และสารทนไฟในกระบวนการผลิต ที่สามารถก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนงาน อีกทั้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการรีไซเคิล และการกำจัดอีกด้วย

 ทำไมขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม?
เนื่องจากส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ มีสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถจำแนกสารอันตรายที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ได้ ดังนี้

ตะกั่ว เป็นส่วนประกอบในการบัดกรีแผ่นวงจรพิมพ์ หลอดภาพรังสีแคโทด (CRT) เป็นต้น โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไปทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ระบบโลหิต การทำงานของไต การสืบพันธุ์ และมีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และทำลายระบบประสาท ระบบเลือด และระบบสืบพันธุ์ในผู้ใหญ่ นอกจากนี้ พิษจะสามารถสะสมได้ในสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรังได้ในพืช และสัตว์
แคดเมียม มักพบในแผ่นวงจรพิมพ์ ตัวต้านทาน และหลอดภาพรังสีแคโทด เป็นต้น ซึ่งสารนี้จะสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะที่ไต ทำลายระบบประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการและการมีบุตร หรืออาจมีผลกระทบต่อพันธุกรรม
ปรอท มักพบในตัวตัดความร้อน สวิตซ์ และจอแบน โดยจะส่งผลในการทำลายอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งสมอง ไต และเด็กในครรภ์มารดาได้ และถ้าลงสู่แหล่งน้ำจะเปลี่ยนรูปเป็น Methylated Mercury และตกตะกอน ซึ่งสะสมในสิ่งมีชีวิตได้ง่าย และจะสะสมต่อไปตามห่วงโซ่
โครเนียมเฮกซาวาแลนท์ ใช้ในการป้องกันการกัดกร่อนของแผ่นโลหะเคลือบสังกะสี ซึ่งสามารถผ่านเข้าสู่ผนังเซลล์ได้ง่าย จะส่งผลในการทำลายดีเอ็นเอ และเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์
บริลเลียม ใช้ในแผนวงจรหลัก เป็นการก่อมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปอด โดยผู้ที่ได้รับสารนี้อย่างต่อเนื่องจากการสูดดมจะกลายเป็นโรค Beryllicosis ซึ่งมีผลกับปอด หากสัมผัสก็จะทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังอย่างรุนแรง
สารหนู ใช้ในแผงวงจร ซึ่งทำลายระบบประสาท ผิวหนังและระบบการย่อยอาหาร หากได้รับปริมาณมากอาจทำให้ถึงตายได้
แบเรียม ใช้ในแผ่นหน้าของหลอดรังสีแคโทด ซึ่งเป็นสารที่มีผลต่อสมอง ทำให้สมองบวม กล้ามเนื้ออ่อนล้า ทำลายหัวใจ ตับ และม้าม
ตัวทนไฟทำจากโบรมีน ใช้ในกล่อง พลาสติกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจร และตัวเชื่อมต่อ ซึ่งเป็นสารที่มีพิษและสามารถสะสมได้ในสิ่งมีชีวิต ถ้ามีทองแดงร่วมด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไดออกซิน และฟิวแรนระหว่างการเผา เนื่องจากตัวทนไฟทำจากโบรมีนมีอยู่หลายรูปแบบ แบบที่มีอันตรายมากจะเป็นโบรมีนมีอยู่หลายรูปแบบ แบบที่มีอันตรายมากจะเป็นโพลีโบรมิเต็ดไบฟีนีล (Polybrominated Biphenyls-PBBs) ซึ่งก่อให้เกิดไดออกซิน สารก่อให้เกิดมะเร็งทำลายการทำงานของตับ มีผลกระทบต่อระบบประสาท และภูมิต้านทาน ทำให้การทำงานของต่อไทรอยด์ผิดพลาด รวมถึงระบบต่อมไร้ท่อสามารถสะสมในน้ำนมของมนุษย์ และกระแสเลือด สามารถถ่ายทอดในห่วงโซ่อาหาร

ตัวอย่างสารพิษในขยะอิเล็กทรอนิกส์
ตะกั่ว ใช้มากในแบตเตอรี่ ผสมในฉนวนสายไฟ (PVC) แผ่นวงจรพิมพ์ (ตะกั่วบัดกรี) 
ปรอท พบในเครื่องมือวัดสวิตซ์ หลอดไฟ Thermostat รีเลย์ 
แคดเมียม ใช้ในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ IR Detector จอภาพ รังสี แคโทด ผสมในพีวีซี 
แคดเมียม 6 ผงสี ป้องกันการกัดกร่อนใน Heat Exchange 
คลอรีน ฉนวนสายไฟ 
อาร์เซนิก (สารหนู) ในอุปกรณ์ความถี่สูง ในแผงวงจรไฟฟ้าของโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ซึ่งโดยตัวเองเป็นสารพิษอันตราย และถ้าไปรวมกับวัสดุมีค่าอื่น ๆ เช่นทองแดง ก็จะทำให้ทองแดงปนเปื้อนอันตรายไปด้วย

การรับมือกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่ทั่วโลกตื่นตัวการรับมือขยะอิเล็กทรอนิกส์ สหภาพยุโรปได้ออกระเบียบว่าด้วยเศษซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment: WEEE) และ ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (The Restriction of the use of certain Hazardous Substance in electrical and electronic equipment: RoHS) โดยใช้บังคับกับผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวม กู้คืนและกำจัดอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคไม่ใช้งานแล้ว เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบจากการทิ้งอุปกรณ์ที่ยังสามารถใช้งานได้ต่อไป หรืออุปกรณ์ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วให้นำอุปกรณ์เหล่านี้กลับไปใช้ใหม่ หรือนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และการรณรงค์ให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้พิจารณาและปรับปรุงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น
ด้วยเหตุดังกล่าว 

ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงมีการส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศกำลังพัฒนาเป็นประจำ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายหรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองคนงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งการรีไซเคิลขยะในประเทศกำลังพัฒนายังมีต้นทุนถูกกว่า เช่น ต้นทุนการรีไซเคิลกระจกจากจอคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ คิดเป็น 0.5 เหรียญต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ เทียบกับ 0.05 เหรียญในประเทศจีน และหลายครั้งการส่งออกดังกล่าวเป็นการละเมิดอนุสัญญาบาเซล (มาตรการสกัดกั้นการลักลอบเคลื่อนย้ายซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งในประเทศอื่น) และจากการตรวจสอบท่าเรือ 18 แห่งในยุโรปเมื่อปี 2548 พบว่า มากถึงร้อยละ 47 ของขยะเหล่านี้ซึ่งรวมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกส่งออกไปอย่างผิดกฎหมาย เฉพาะในอังกฤษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 23,000 เมตริกตันถูกส่งออกอย่างผิดกฎหมายโดยไม่มีการระบุว่าเป็นสินค้าประเภทใดในปี 2546 ไปยังตะวันออกไกลไม่ว่าจะเป็นอินเดีย แอฟริกาและจีน ในสหรัฐฯ ประมาณกันว่าร้อยละ 50-80 ของขยะที่ถูกรวบรวมเพื่อการรีไซเคิล ก็จะถูกส่งออกไปในลักษณะเดียวกัน แต่การกระทำเช่นนื้ถือว่าถูกกฎหมายเพราะว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาบาเซล


เมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังเป็นปัญหาสำคัญกับสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ริเริ่ม โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมโครงการใหม่ เพื่อแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์” (Solving the E-Waste Problem : StEP) ขึ้นมา เพื่อรณรงค์ลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ภายใต้ความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ บริษัท ไมโครซอฟท์, บริษัท อีริคสัน, บริษัท ฮิวเลตต์แพคการ์ด (เอชพี) และบริษัทเดลล์ เป็นต้น


การรณรงค์ลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มตั้งแต่การจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำไปใช้อีก (Recycle)

การใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว และที่ไม่ต้องการใช้กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง อาจจะนำมาซ่อมแซม หรือนำไปบริจาคให้กับผู้ที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง สหรัฐอเมริกา ได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เลิกใช้แล้ว ไปบริจาคให้ประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบแอฟริกาและเอเชีย
การรีไซเคิล (Recycle) เป็นการนำส่วนที่ยังเป็นประโยชน์ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยแยกส่วนประกอบและวัตถุที่มีค่าภายในออกมา อาทิ โลหะมีค่า เงิน ทองคำขาว และทองแดง เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลและนำไปผลิตอุปกรณ์อย่างอื่นได้อีกทางหนึ่งด้วย
แม้ว่าจะเราจะมีวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อรณรงค์ให้คนรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์คงไม่สามารถจบลงได้ด้วยการรณรงค์เพียงแค่ปีละ 1 วันเท่านั้น หากแต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างจิตสำนึกในการใช้งานเทคโนโลยี ทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ก็ดี การเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือตามแฟชั่นก็ดี การผลิตสินค้าไอทีที่ต่ำกว่ามาตรฐานออกมาวางจำหน่ายก็ดี ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป สักวันหนึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็คงจะล้นเมือง

โปรดช่วยกันก่อนที่ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์

32 ความคิดเห็น:

  1. มันเป็นของคู่กันจะให้ทำอย่างไรได้ครับไม่ใช้ก็ไม่ได้อะไรก็เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ทั้งนั้น....

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ลูกพี่ครับเค้าไม่ได้บอกว่าห้ามใช้ เค้าให้ทำอะไรลองอ่านดูนะ :D

      ลบ
  2. สมัยก่อนที่มีข่าวเกียวกับขยะประเภทนี้ที่บางปู คลองด่าน สมุทรปราการ แทบไม่น่าเชื่อว่า เอาพวกแบตเตอร์รี่เก่าๆมาปูลองพื้นถนนเข้าหมู่บ้าน แล้วมีโรงรับซื้อของเก่า นำอุปกรณ์พวกนี้มาแยกชะแหละ ตายนะครับทั้งคนทำและคนข้างเคียง ถึงได้มีกฎบังคับ และการจัดเก็บที่ถูกต้องขึ้นมา

    ตอบลบ
  3. ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง กับการจัดการ และของมูลที่ได้รับมาครับ

    ตอบลบ
  4. รณรงค์ให้มีจิตสำนึกในการใช้น่าจะดี

    ตอบลบ
  5. การใช้ซ้ำ ดีที่สุดครับ ในสายตาเราอาจเห็นเครื่องใช้บางอย่างล้าสมัย แต่กลับบางคนอาจมีค่ามากครับ ถ้าไม่ใช้ก็นำไปบริจาคดีกว่านำไปทิ้งครับ จะได้รักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

    ตอบลบ
  6. เราควรปลูกจิตสำนึกในการใช้สิ่งของให้คุ้มค่า ก่อนจะซื้อมาใช้ใหม่ เพื่อชะลอการเกิดขยะเพิ่มขึ้น นะครับ

    ตอบลบ
  7. การนำสิ่งของที่ใช้แล้วให้นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดพลังงานช่วยโลกร้อน

    ตอบลบ
  8. ควรปลูกฝังให้ประชาชน เห็นคุณค่าของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ทิ้งส่ง และสามารถนำไปบริจากได้

    ตอบลบ
  9. ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในบ้านเราก็ใช้กันอยู่ทุกวันครับบางทีเราอาจมองข้ามไปคิดว่าไมมีผลกระทบกับเราโดยตรงแต่ที่จริงแล้วมันกระทบกับเราโดยตรงเกี่ยวกับสุขภาพ ยังไงก็ใช้อย่างประหยัดและกำจัดอย่างถูกวิธีนะครับ

    ตอบลบ
  10. สิ่งหนึ่งที่ดีของขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือการรีไซเคิล ที่ดูแล้วจะคุ้มค่าที่สุด ซึ่งเราคงหนีไม่พ้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวันของเราแน่ๆ และมันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนส่วนใหญ่ไปสะแล้ว

    ตอบลบ
  11. เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสียเบื่องต้นควรให้ช่างที่มีฝีมือซ่อมเพราะจะได้นำกลับมาใช้ใหม่เพราะอุปกรณ์บางตัวอาจเสียไม่ใช่เสียทั้งหมด จึงเป็นการช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และทรัพยากรอีกทางหนึ่งได้ แต่ปัญหาก็คือราคาค่าซ่อมใกล้เคียงกับการซื้อของใหม่เนื่องจากเสียค่าบริการการซ่อมแพง ซึ่งก็ต้องเสี่ยงอีกว่าซ่อมแล้วจะดีเหมือนเดิมหรือไม่

    ตอบลบ
  12. เริ่มจากตัวเราเอง เมื่ออุปกรณ์ชำรุดจนไม่สามารถซ่อมได้แล้วก็ ควรจัดเก็บหรือทิ้งให้ถูกวิธี ถ้ามันยังใช้งานได้ก็ควรใช่ให้คุ้มค่าที่สุดครับ ^^

    ตอบลบ
  13. ปัจจุบันเรามักจเห็นกันอย่างชินชาเสียเเล้วกับขยะอิเล็คทรอนิค โดยเฉพาะโทรทัศน์รุ่นก่อนๆ ซึ่งระบบได้มาเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิตอล ระบบเก่าก่อนเป็นเเบบอนาลอคเมื่อเสียเเล้วก็ทิ้ง ซ่อมก็ไม่คุ้ม เราก็เลยเห็นทิ้งกันเกลื่อนเมือง

    ตอบลบ
  14. ณ ตอนนี้ขยะในโลกเราก็เยอะอยู่แล้วครับ แล้วในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ดังนั้นเราต้องช่วยกันรณรงค์น่ะครับ ด้วยการนำสิ่งของที่ไม่ใช้นำกลับมาใช้ใหม่

    ตอบลบ
  15. ทำทุกวิถีทางให้ของเก่านั้นนำกลับมาใช้ใหม่ช่วยให้ได้ประหยัดด้วยแต่ถ้ามันไม่สามารถนำกลับมาใช้ก็ค่อยนำไปทำอย่างอื่นเช่นประกอบหรือประดิษฐ์

    ตอบลบ
  16. ถ้าจะให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ก่อนเราจะนำไปทิ้งเราควรจัดหมวดหมู่ก่อนหรือใส่ถุงให้มิดชิดเพื่อป้องกันสารเคมีบางตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะดีครัช

    ตอบลบ
  17. เราควรที่จะใช้สิ่งของอีเล็กทรอนิกส์อย่างรู้คุณค่าและใช้ให้ยาวนานที่สุด รู้จักที่จะซ่อมแซมไม่ใช่ซื้อใหม่ในกรณีที่สามารถนำกลับมาใช้ได้มันก็จะช่วยลดขยะอีเล็กทรอนิกส์ได้ในอีกทางนึง เพราะยังไงเราก็จำเป็นต้องใช้ของพวกนี้อยู่แล้วและนับวันก็จะมีความต้องการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

    ตอบลบ
  18. ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุปันมีมากขึ้นๆ ตามประชาชนหรือประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ ทุกวันนี้ มันเป็นเหมือนปัจจัยหลักๆของชีวิตเราไปแล้ว

    * รีไซเคิล: แม้ว่าการรีไซเคิลจะเป็นวิธีที่ดีในการนำวัสดุของสินค้าเก่ามาใช้ใหม่ แต่ในขณะเดียวกันในกระบวนการรีไซเคิลก็อาจทำให้คนงานได้รับอันตรายจากสารเคมีในขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง

    ตอบลบ
  19. เราต้องช่วยกันรณรงค์และปลูกฝังให้ผู้บริโภครุ่นใหม่หรือเด็กๆตระหนักถึงผลกระทบจากการทิ้งอุปกรณ์ที่ยังสามารถใช้งานได้ต่อไป หรืออุปกรณ์ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วให้นำอุปกรณ์เหล่านี้กลับไปใช้ใหม่ หรือนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และการรณรงค์ให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้พิจารณาและปรับปรุงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพื่อโลกของเราครับ

    ตอบลบ
  20. ขยะเหล่านี้เป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก...ตะกั่ว ปรอท เป็นสารก่อมะเร็งทั้งนั้น
    เราควรเริ่มต้นทิ้งขยะให้ถูกประเภทเพื่อง่ายต่อการนำไปกำจัดหรือนำมารีไซเคิล

    ตอบลบ
  21. ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste หรือ E-Waste) นั้นเป็นคําศัพท์ที่ใช้กันมากในแถบ
    เอเชียแปซิฟิก ส่วนชื่อที่ใช้เป็นทางการนั้น กรมควบคุมมลพิษ ใช้คําว่า “ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
    และอิเล็กทรอนิกส์” หรือที่เรียกกันว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments)"
    หมายถึง ซากเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กในการทํางานที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน
    (off-spec) หรือหมดอายุการใช้งาน หรือล้าสมัย (กรมควบคุมมลพิษ, 2555)
    กองควบคุมสารพิษ (Department of Toxic Substances Control) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
    ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงนิยามของคําว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือ ผลิตภัณฑ์ทางอิเล็กทรอนิกส์
    หลายๆ ประเภท ทั้งที่ใช้ในสถานที่ทํางาน และภายในบ้าน ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารที่มีอันตราย เช่น
    สารตะกั่วและปรอท เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้หมดอายุการใช้งาน หรือถูกทิ้งเพราะตกรุ่น (ล้าสมัย)
    ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือ ขยะที่มีอันตราย ซึ่งไม่ควรจะถูกกําจัดในถังขยะแบบปกติควรที่จะกําหนดการ
    กําจัดในลักษณะที่เหมาะสม รวมถึงการนํากลับมาใช้ใหม่ การขจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่ละอย่าง
    มีวิธีการที่แตกต่างเฉพาะประเภท ซึ่งการจัดการที่ดีในการลดขยะประเภทนี้จะสามารถช่วยลดความเสี่ยง
    จากอันตรายที่เกิดจากขยะนี้ได

    ตอบลบ
  22. ต้องเริ่มปลูกฝังการสร้างจิตสำนึกในการใช้งาน และการกำจัดที่ถูกต้อง เพื่อลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

    ตอบลบ
  23. มิตรเฮดเดอร์ไฮเปอร์เรดซิ่ง26 เมษายน 2558 เวลา 06:51

    ใช่กันไม่ระวังต่อไปขยะเหล่านี้จะมาสร้างผลกะทบต่อเราทางเรื่องสารเคมีตกค้างต่างอย่างแน่นอน

    ตอบลบ
  24. โลกเราจะไม่น่าอยู่เพราะขยะที่ไม่มีประโยชน์ทางอิเล็กโทรนิคนี้เเหล่ะ..ฝากไว้ทุกคนด้วยครับ

    ตอบลบ
  25. ฟังแล้วน่าตกใจมาก ขยะอิเล็กทรอนิกมีถึง 40-50 ล้านตันต่อปี เพราะงั้นก็ต้องเริ่มจากการปลูกฝังให้ทิ้งขยะให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ง่ายต่อการนำไปกำจัดหรือนำกลับมาใช้ใหม่

    ตอบลบ
  26. ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ เราคือส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเพิ่มขึ้น ถ้าจะลดก็เริ่มที่ตัวเรา อย่างเช่น อย่าเปลี่ยนโทรศัพท์บ่อยนัก เป็นต้น

    ตอบลบ
  27. หากทุกภาคส่วนที่เป็นต้นเหตุของขยะเหล่านี้มีความรับผิดชอบในการที่กำจัดขยะของตัวเองอย่างถูกวิธีปัญหาเรื่องขยะปนเปื้อนก็ไม่ใชเรื่องใหญ่โลกก็น่าอยู่ขึ้นมากกว่านี้

    ตอบลบ
  28. ปัจจุบันคนไทยนิยมสินค้าอิเล็คโทนิคน์จากจีนซึ่งจะใช้งานได้ไม่นานและจะกลายเป็นขยะอิเล็คโทนิคน์ที่เป็นปัญหามากในปัจจุบัน ซึ่งประเทศในยุโรปและออสเตรเลียได้ห้ามนำสินค้าอิเล็คโทนิคจากจีนเข้าประเทศโดยเด็ดขาดเพราะเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานและสามารถลดปัญหาขยะอิเล็คโทนิดได้มาก เราควรลด/เลิกใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะจากจีนเพื่อช่วยลดขยะอิเล็คโทนิคครับ

    ตอบลบ
  29. ก่อนที่เลือกใช้ควรพิจารณาดูก่อนว่า อุปกรณ์ที่จะซื้อมาใช้มีคุณภาพ ใช้ของไม่มีมาตรฐานมาใช้จะทำให้เสียเร็วเกินไปกลายเป็นขยะไป

    ตอบลบ
  30. ถ้าเรายังติดอยู่กับความสบาย ของเหล่านี้ก็จะมาอยู่คู่เราตลอดไป มากเข้าจน กลายเป็นขยะโดยมิทันรู้ตัว

    ตอบลบ
  31. ควรใช้ของที่มีคุณภาพและใช้อย่างทะนุทนอม จะได้ไม่เสียเร็ว ช่วยลดปัญหาได้อีกทางหนึ่ง

    ตอบลบ