วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เทคนิค 5ห เพื่อการทำงานที่มีความสุข

By พี่แมว




เห็นเค้ามีเทคนิคการทำงาน 5ส เพื่อเพิ่มการทำงานให้มีประสิทธิภาพกัน..ก็เลยอยากจะขอนำเสนอเทคนิค 5ห เพื่อการทำงานที่มีความสุขมั่งคะ... เนื่องจากไปค้นดูเอกสารเก่าๆ พบว่า เคยเขียนและนำเสนอไอเดียนี้ไว้ที่คณะฯ ตั้งแต่ปี 43 สมัยที่ยังทำ ISO9000 กันอยู่ แต่สมัยนั้น ไม่รู้ทำไม ไอเดียนี้ไม่ได้รับการตอบรับ ประมาณว่าไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก.. ก็เลยต้องพับไป แต่ตอนนี้รู้สึกว่าบรรยากาศและแนวคิดอะไรๆ มันเป็นใจแล้ว ลองงัดเทคนิคนี้มาแชร์กันดูอีกรอบละกัน..

อะไรคือ 5ห ?

5ห เป็นหลักการที่สำคัญที่จะช่วยให้บรรยากาศในที่ทำงานเต็มไปด้วยความอบอุ่น ซึ่งจะทำให้สถานที่ทำงานเป็นที่ที่น่าอยู่ มิใช่เป็นเพียงที่ที่เรามาใช้แรงงานไปวันๆ เท่านั้น
ทำไมต้องมี 5ห ?

เพราะว่ามนุษย์เราส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาอยู่ที่ทำงานหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง (บางคนมากกว่า) ซึ่งถ้าหากในเวลา 8 ชั่วโมงนี้ เราต้องอยู่อย่างเบื่อหน่าย เจ็บปวด อิจฉาริษยา โกรธแค้น ฯลฯ ก็แปลว่าเราต้องเสียเวลาอันมีคุณค่าของเราไปถึง 8 ชั่วโมง หรือคิดเป็นจำนวนนาทีเท่ากับ 480 นาที หรือ 28,800 วินาที ไปกับเรื่องซึ่งทำให้บั่นทอนจิตใจ อันจะนำมาซึ่งสุขภาพจิตที่ไม่เป็นสุข และส่งผลถึงสุขภาพร่างกายได้ เช่น เกิดอาการปวดหัวเรื้อรัง ท้องอืดท้องเฟ้อ (โดยเฉพาะเวลาประชุมไปกินข้าวไป เอื๊อก...น่าจะกินให้เสร็จแล้วค่อยประชุมต่อเนอะ) โรคกระเพาะ ฯลฯ ได้ด้วย

ในทางตรงข้าม ถ้าเรามีความสุขกับที่ทำงาน ก็จะทำให้เรารู้สึกอยากมาทำงาน ความอยากทำงานก็จะส่งผลให้เราทำงานได้ดี ผลงานของเราที่ออกไปก็จะมีคุณภาพ เมื่อเรามีความสุขกับงานที่เราทำและที่ทำงานของเรา เราก็จะแผ่รังสีแห่งความสุขนี้ออกไปยังคนรอบข้างด้วย ทำให้เพื่อนร่วมงานก็มีความสุข บรรยากาศในที่ทำงานก็จะมีความสุข ทำให้ลดความตึงเครียดในการทำงาน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ไม่ใช่มีริ้วรอยอันเกิดจากการขมวดคิ้วอยู่ตลอดเวลา การมีจิตใจที่แจ่มใสสดชื่นก็จะส่งผลทำให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ ไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ผลประโยชน์ของการใช้ 5ห คาดว่าจะส่งผลในเชิงนามธรรมอีกมากมาย แต่คงมองไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ย่อมจะส่งผลต่อทั้งผู้ปฏิบัติเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อที่ทำงาน องค์กร และผู้ที่มาติดต่อกับองค์กร ด้วยอย่างแน่นอน..

5ห ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

• ห ที่ 1 ห หัวเราะ

• ห ที่ 2 ห ห่วงใย

• ห ที่ 3 ห เห็นอกเห็นใจ

• ห ที่ 4 ห ให้

• ห ที่ 5 ห เหตุผลก่อนอารมณ์

ห ที่ 1 ห หัวเราะ



เสียงหัวเราะมักจะทำลายความเครียดได้ในเกือบจะทุกๆ กรณี เสียงหัวเราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สำคัญมาก เพราะถ้าชีวิตไม่มีเสียงหัวเราะ มนุษย์ก็จะตกอยู่ในสภาวะที่อับเฉาเป็นอย่างยิ่ง มีการศึกษาที่พบว่า เด็กๆ จะมีการหัวเราะโดยเฉลี่ยต่อวันมากกว่าผู้ใหญ่เป็นร้อยเท่า (จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมเด็กจึงมีความดึงดูดใจต่อคนรอบข้างสูง) นอกจากนี้เวลาที่เราหัวเราะ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนแห่งความสุขที่เรียกว่าเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งสารนี้จะทำให้เกิดความอิ่มเอิบ เบิกบาน ผ่อนคลาย ดังนั้นจึงพบว่า ผู้ที่หัวเราะอยู่เสมอจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ หน้าตาสดใสเปล่งปลั่ง ดูอ่อนวัย และมีประกายของความสุขฉาบฉายออกมา

เพียงแต่ว่า ระวังนิดนึง อย่าให้การหัวเราะของเรา เป็นการหัวเราะที่อาศัยผู้อื่นเป็นตัวตลกก็จะดีนะคะ คือ ไม่ใช่หัวเราะหรือพูดตลกโดยมาจากการล้อเลียนจุดด้อยของผู้อื่นน่ะค่ะ..

ห ที่ 2 ห ห่วงใย



จะเป็นการดีแค่ไหน ถ้าหากเมื่อเรารู้สึกไม่สบาย ก็มีคนมาคอยห่วงใย ถามไถ่ และช่วยดูแล เราจะรู้สึกอบอุ่นเพียงใด ถ้าเมื่อเราเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่สบายใจมา แล้วมีคนมาสนใจความรู้สึกของเรา หรือถ้าเราทำงานมาเหนื่อยๆ ก็มีคนมาดูแลเอาใจใส่ ดังนั้น ความห่วงใยระหว่างเพื่อนร่วมงานจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการสร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน ความห่วงใยที่มีประสิทธิภาพ ควรแสดงออกเป็นการกระทำเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ของเพื่อนร่วมงาน หรือทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกสบายขึ้นด้วย มากกว่าแค่คำพูดเฉยๆ ถ้าหากทำให้กันด้วยความเอื้ออาทร ก็จะทำให้คนที่ได้รับความห่วงใยรู้สึกดีๆ ว่ายังมีคนที่แคร์ความรู้สึกของเขาและพร้อมที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาความทุกข์ที่เขาได้รับอยู่ลงไปบ้าง หากที่ทำงานใดมีความอาทรให้กันอย่างนี้ ก็คงจะเป็นที่ทำงานที่น่าอยู่มาก

ห ที่ 3 ห เห็นอกเห็นใจ



เป็น ห ที่ต่อเนื่องมาจาก ห ที่ 2 นั่นเอง เพราะเมื่อเรามีความห่วงใยแล้ว ก็จะนำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน หมายถึงการที่เราลองนำเอาตัวเองเข้าไปแทนที่เพื่อนร่วมงาน เพื่อเราจะได้ลองคิดดูว่า ทำไมเขาจึงปฏิบัติเช่นนั้น หรือรู้สึกเช่นนั้น หรือถ้าจะให้ดี น่าจะลองไต่ถามสาเหตุของเพื่อนร่วมงานดูก่อนว่าทำไมเค้าจึงปฏิบัติเช่นนั้น หลายครั้งเราไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ทำให้เราสรุปว่าเขาทำอย่างนี้เพราะอย่างนี้แน่ๆ ..ตัดสินไปเรียบร้อย แต่..อาจจะผิดก็ได้นะคะ..

เพราะฉะนั้น ลองเอาตัวเองไปแทนที่คนๆ นั้นดู ก่อนที่จะตัดสินว่าเขาทำไม่ถูกใจคุณเพราะอะไร..

ห ที่ 4 ห ให้



การให้เป็นความสุขมากกว่าการรับ เพราะฉะนั้นการให้จึงต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความสุขในที่ทำงาน การให้ในที่นี้หมายความรวมถึงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือ ให้ความรู้สึกดีๆ ให้กำลังใจ ให้โอกาสเพื่อนร่วมงาน และให้อภัยเพื่อนร่วมงานด้วย สิ่งที่มักจะขาดแคลนก็คือ การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ไม่รู้เป็นเพราะเรารู้สึกเขิน หรือว่า จริงๆ แล้ว เราทำไม่เป็น แต่ไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใด เราสามารถแก้ได้ด้วยการฝึกทำบ่อยๆ ค่ะ

การให้โอกาสเพื่อนร่วมงานก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากในที่ทำงานเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่เราอาจจะนึกว่าการทำงานจะต้องแข่งขัน เพื่อให้ความดีความชอบตกอยู่กับตน หรือเปล่า แต่ถ้าหากเราแต่ละคนต่างฝ่ายต่างให้โอกาสซึ่งกันและกัน ภาพรวมก็คือทั้งองค์กรก็จะดีขึ้น การให้โอกาสเพื่อนยังหมายความรวมถึง การเสียสละโอกาสของตัวเองเพื่อให้เพื่อนได้ดี (กว่า) เราด้วย

และที่สำคัญที่สุด ก็คือ การให้อภัย การให้อภัยกันในที่ทำงานเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อยไปกว่าการให้อภัยคนในครอบครัว แต่ทำได้ยากกว่า เพราะคนในครอบครัวเป็นคนที่เรารักและผูกพัน ก็เลยให้อภัยได้ง่าย ดังนั้น ถ้าเรามองเพื่อนร่วมงานว่าเป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนคุณลุงคุณป้า คุณน้าคุณอา หรือญาติคนหนึ่งของเรา เราก็คงจะอภัยให้ได้ง่ายขึ้นมั้ยคะ หรือลองคิดว่าถ้าเป็นตัวเราทำผิดแบบนั้น เราก็คงอยากได้รับการอภัยให้เช่นกัน การให้อภัยซึ่งกันและกัน จะทำให้เรื่องหนักกลายเป็นเรื่องเบาได้ด้วยค่ะ..

ห ที่ 5 ห เหตุผลก่อนอารมณ์



ที่ผ่านมาทั้ง 4 ห เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเสียมาก แต่ ห สุดท้ายนี้ เป็นการใช้เหตุผลมาก่อนอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ในที่นี้หมายถึง ความรู้สึกใดๆ ก็ตามที่จะนำพาไปสู่ความคิดที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่สร้างสันติ ไม่สร้างความสงบสุขในที่ทำงาน เช่น อารมณ์โกรธ อารมณ์อิจฉา อารมณ์พาล อารมณ์ประชด อารมณ์หึงหวง อารมณ์แค้น ฯลฯ ซึ่งควรจะพูดกันด้วยเหตุด้วยผล ละอารมณ์ดังกล่าวทิ้งเสีย แล้วถือประโยชน์ส่วนองค์กรเป็นที่ตั้ง ปัญหาหลายอย่างในองค์กรเกิดจากความเข้าใจผิดเพราะเราปล่อยให้อารมณ์เป็นตัวนำการตัดสินใจ แทนที่จะค้นหาความจริงด้วยเหตุและผล ซึ่งจะช่วย save เวลาของการเข้าใจผิดและอารมณ์เสียได้มากทีเดียวค่ะ

ค่ะ ถ้าใครมีประสบการณ์การใช้ ห ใด ห หนึ่ง แล้ว work อย่างไร ลองแลกเปลี่ยนเล่าสู่กันฟังมั่งนะคะ หรือใครจะนำไปใช้ควบคู่กับเทคนิค 5ส แล้วได้ผลอย่างไรก็..อยากฟังด้วยเช่นกันค่ะ..

อ้างอิ่ง : http://share.psu.ac.th/blog/kon1kon-kmlightly/3188


อ่านบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คุณค่าของชิ้นส่วนตัวเล็กๆ

By ฝ้าย



เกมจิ๊กซอว์ (jigsaw puzzle) เป็นเกมต่อภาพ เล่นโดยประกอบชิ้นส่วนจำนวนหลายสิบหรือหลายร้อยชิ้นเข้าด้วยกันเป็นภาพรวม แต่ละชิ้นส่วนมีรูปร่าง ขนาด และสีสันต่างกัน เมื่อประกอบเข้ากันถูกชิ้น จะล็อคกันพอดี ภาพของแต่ละชิ้นก็จะเชื่อมกันเป็นภาพเดียว

เกมชนิดนี้มักทำด้วยกระดาษบอร์ดแข็ง ขั้นตอนการผลิตคือพิมพ์ภาพบนกระดาษบอร์ดแล้วปั๊มฉลุออกเป็นชิ้นๆ ในสมัยโบราณทำด้วยแผ่นไม้ ฉลุออกเป็นชิ้นๆ ด้วยเลื่อย นี่คือที่มาของชื่อ jigsaw puzzle (jigsaw แปลว่า เลื่อยฉลุ)

เชื่อกันว่าเกมนี้ประดิษฐ์เป็นครั้งแรกในราวปี ค.ศ. 1760 โดยนักทำแผนที่และนักแกะสลักชาวอังกฤษชื่อ จอห์น สปิลส์เบอรี เกมจิ๊กซอว์ในยุคหลังผลิตด้วยกระดาษการ์ดบอร์ด เพราะถูกกว่า ง่ายกว่า เบากว่า ภาพบนบอร์ดเกมมักเป็นภาพสวยๆ เช่นทิวทัศน์ ภูเขา น้ำตก ชายทะเล ดอกไม้ เด็กน่ารัก เป็นต้น

ก่อนยุคคอมพิวเตอร์ การเล่นเกมจิ๊กซอว์หมายถึงการควักกระเป๋าสตางค์ซื้อเกมในรูปกล่องขนาดใหญ่ หน้ากล่องเป็นรูปภาพต้นแบบหรือ ‘โจทย์’ ภายในกล่องบรรจุชิ้นส่วนจิ๊กซอว์จำนวนตามระบุ เช่น 100 ชิ้น 300 ชิ้น 500 ชิ้น ไปจนถึง 1,000 ชิ้น ขนาดหน้ากว้างยาวของกล่องเท่ากับขนาดรูปภาพเมื่อประกอบเสร็จแล้ว

จิ๊กซอว์บางชนิดมีชิ้นส่วนที่มีขนาดต่างกันมากๆ เช่น เล็ก กลาง ใหญ่ ออกแบบมาให้สมาชิกต่างวัยหลายคนเล่นพร้อมกัน เด็กเล่นชิ้นใหญ่ ผู้ใหญ่อาจเล่นชิ้นเล็ก จึงเรียกเกมชนิดนี้ว่า จิ๊กซอว์ครอบครัว เพราะเล่นกันได้ทั้งพ่อแม่ลูก

การเล่นเกมจิ๊กซอว์ต้องใช้พื้นที่ เนื่องจากอาจต่อไม่เสร็จในวันเดียว ต้องวางคาไว้จนกว่าจะต่อเสร็จ ขยับเขยื้อนไม่ได้ เมื่อประกอบเสร็จแล้วก็มักทากาวติดบนบอร์ด หรือใส่กรอบรูป บางคนคลั่งไคล้เกมนี้เล่นทุกภาพที่มีจำหน่าย แล้วติดทุกรูปที่ต่อสำเร็จบนกำแพงบ้านแทนวอลล์เปเปอร์!

เมื่อโลกเดินทางมาถึงยุคดิจิตัล เกมเลื่อยฉลุก็ถูกแปลงเป็นข้อมูลไฟฟ้า มีเว็บไซต์ให้เล่นเกมนี้ฟรี มีคลังภาพให้เล่นได้ไม่จำกัด ไม่ต้องมีที่เก็บ

การต่อจิ๊กซอว์แทบทั้งหมด ผู้เล่นมักจะรู้ก่อนว่ากำลังต่อภาพอะไร ดังนั้นเมื่อหยิบแต่ละชิ้นขึ้นมา ก็พอเดาออกว่ามันควรอยู่บริเวณไหนของภาพ แต่มีเกมจิ๊กซอว์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีภาพ เป็นตัวจิ๊กซอว์เปล่าๆ การเชื่อมชิ้นส่วนแบบนี้ต้องใช้ฝีมือขึ้นมาก แต่ที่ยากขึ้นไปอีกคือจิ๊กซอว์สามมิติ มาในรูปกล่องบ้าง ทรงกลมแบบลูกโลกบ้าง สำหรับคอจิ๊กซอว์จริงๆ

เกมจิ๊กซอว์เป็นกิจกรรมที่ดีอย่างหนึ่ง ช่วยคลายเครียด และน่าจะช่วยพัฒนาสมองในระดับหนึ่ง มีการวิจัยว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์

ผมเองก็เล่นเกมจิ๊กซอว์ฉบับดิจิตัลเป็นประจำ เพราะผ่อนคลายไม่แพ้ดูละครตบตีกัน! แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่ามันแตกต่างจากความบันเทิงชนิดอื่นคือ มันเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง!


สิ่งหนึ่งที่มากับการเล่นเกมจิ๊กซอว์อย่างเลี่ยงไม่พ้นคือ การต้องสังเกตรายละเอียดของชิ้นส่วนแต่ละชิ้น เชื่อไหมว่าการมองภาพชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งอย่างวิเคราะห์ ทำให้เห็นอีกมุมหนึ่งของภาพของโลกและชีวิตอย่างประหลาด!

การมองภาพและชำแหละเป็นชิ้น มองอย่างละเอียดทีละจุด ทำให้เราเห็นบางอย่างในมุมที่เราอาจไม่เคยมองมาก่อนเลย ยิ่งมีจำนวนชิ้นมาก ก็ยิ่งเห็นลึกขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการต่อภาพจิ๊กซอว์รูปชายทะเลยามเย็น แต่ละชิ้นส่วนเป็นส่วนหนึ่งของภาพชายทะเล บางชิ้นส่วนเป็นเม็ดทราย บางชิ้นเป็นส่วนหนึ่งของเงาบนหาด บางชิ้นเป็นส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์ ท้องฟ้า เมฆ นก คลื่น เรือ ฯลฯ การมองชิ้นส่วนแต่ละชิ้นทำให้ต้องพิจารณาว่ามันคืออะไรกันแน่ จะพบว่าทุกชิ้นส่วนเล็กๆ ยังประกอบด้วยองค์ประกอบที่เล็กลงไปอีก เช่น กราบเรือประกอบขึ้นด้วยแผ่นไม้หลายชิ้น ตะปู ยาชัน ฯลฯ

สรรพสิ่งในโลกประกอบด้วยสิ่งเล็กๆ มารวมกันอย่างเหมาะเจาะลงตัว มันประกอบด้วยชิ้นส่วนเล็กๆ ที่โดยตัวมันเองเดี่ยวๆ อาจไม่มีตัวตน แต่เมื่อมารวมกันแล้ว ได้สาระ ได้ความหมาย

มองภาพละเอียดแบบนี้ก็อาจมองเห็นว่าโลกรอบตัวเรามีอะไรและเกิดอะไรขึ้นในโลก และการมองโลกแบบนี้อาจทำให้เราเห็นคุณค่าของชิ้นส่วนเล็กๆ รอบตัวเรา

เคยนึกไหมว่า หากเราสามารถแปลงชีวิตทั้งชีวิตของเราเป็นรูปภาพ มันจะเป็นรูปอะไร

ชีวิตของเราก็คือจิ๊กซอว์ ชีวิตเราทุกคนประกอบด้วยชิ้นส่วนของเหตุการณ์ต่างๆ หากเราเปรียบว่าจิ๊กซอว์หนึ่งชิ้นเท่ากับหนึ่งกิจกรรมหรือหนึ่งเหตุการณ์ แต่ละคนก็จะมีจิ๊กซอว์ชีวิตอยู่หลายพันชิ้น บางคนอาจมีเป็นหลายหมื่นชิ้น

หากเปรียบว่าจิ๊กซอว์เป็นเวลา สมมุติว่าหนึ่งชิ้นเท่ากับหนึ่งวัน แต่ละคนก็จะมีจิ๊กซอว์ชีวิตอยู่ราว 20,000-30,000 ชิ้น เป็นจิ๊กซอว์ที่ใหญ่เอาการ และต่อไม่ง่ายนัก

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์หรือเวลา ในบรรดาจิ๊กซอว์หลายหมื่นชิ้นแห่งชีวิตของเรา มีบางชิ้นที่เป็นสีสันสวยงาม บางชิ้นหม่นหมอง บางชิ้นไม่มีสีสัน

ทว่าข้อแตกต่างระหว่างเกมจิ๊กซอว์ธรรมดากับเกมจิ๊กซอว์ชีวิตก็คือเราสามารถเลือกรูปร่าง ขนาด สีสัน และรอยหยักของแต่ละชิ้นได้ และแต่ละชิ้นมีความยืดหยุ่นต่อกันได้

นี่เป็นข่าวดี เพราะหมายความว่า เราเป็นคนวาดภาพแต่ละชิ้นส่วนเอง แล้วประกอบมันขึ้นมาให้สำเร็จ เสร็จแล้วก็เผยภาพรวมของชีวิตว่าสวยงามหรือไม่ เป็นชีวิตที่ดีหรือไม่

แต่ข่าวร้ายคือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนกำลังประกอบภาพอะไร บางคนปฏิเสธชิ้นส่วนบางชิ้นที่ดูไร้ความหมาย เช่น ไม่รู้ว่าจะเรียนวิชาหนึ่งๆ ไปทำอะไร แต่เมื่อประกอบรวมแล้ว อาจพบว่ามันมีเหตุผลของการดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา

บางคนไม่ยอมวาดภาพทิวทัศน์แห่งชีวิตของตัวเอง ปล่อยให้คนอื่นวาดให้ บางคนไม่แม้จะขยับตัวลงมือประกอบชิ้นส่วนภาพ และบางคนเลือกที่จะวาดภาพหม่นหมองสกปรกแล้วยังประกอบมันขึ้นมา เสร็จแล้วก็เป็นภาพกองขยะอาจม

จะเลือกต่อภาพใหญ่หรือเล็ก สว่างหรือมืด สะอาดหรือสกปรก ก็เป็นทางเลือกของเราแต่ละคน แต่อย่าลืมว่า ทุกๆ เกมมีเวลาเล่นที่จำกัด ดังนั้นจะต่อภาพอะไรก็ได้ ขอให้ลงมือทำก่อนจะถึงเวลา Game over!



อ่านบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชุดควบคุมคุณภาพลม

By Shift B


การควบคุมคุณภาพลม คือ การทําให้ลมสะอาด ลมอัดมีความดันที่ถูกต้อง และคงที่ ลมอัดมีน้ำมันเพื่อหล่อลื่นชิ้นส่วนที่ทํางาน ในสภาพอากาศทั่วๆไป 1 ลูกบาศก์เมตร (m3) พบว่ามีสิ่งสกปรกอยู่โดยเฉลี่ยสูงถึงกว่า 140 ล้านสิ่งสกปรก ซึ่งประกอบไปด้วย แบคทีเรีย ไวรัส หมอกควัน ไฮโดรคาบอน น้ำ น้ำมันและสิ่งเจือปนอื่นๆที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นหากเราลองจินตนาการเมื่อเครื่องอัดลมอัดความดันสูงถึง 8 บาร์ ก็มีความเป็นไปได้ที่สิ่งสกปรกในอากาศอัด 1 m3 จะมีสูงถึง 1120 ล้านสิ่งสกปรก อุปกรณ์ที่ใช้สําหรับปรับปรุงคุณภาพลมอัดได้แก่

• อุปกรณ์กรองลมอัด (Air Filter)

• อุปกรณ์ควบคุมความดันของลมอัด (Air Regulator)

• อุปกรณ์ผสมน้ำมันหล่อลื่นเข้าไปในลมอัด (Air Lubricator)


ซึ่งมีรายละเอียดการทํางานของอุปกรณ์แต่ละตัวมีดังต่อไปนี้


อุปกรณ์กรองลมอัด (Air Filter)

เมื่อ เครื่องอัดลม (Air compressor) ทําการอัดลมเพื่อให้มีความดัน (Pressure) เพิ่มขึ้นนั้น ลมที่ถูกเครื่องอัดลมดูดเข้าไปเพื่ออัดเก็บในถังเก็บลมนั้น จะมีส่วนผสมของมวลสารอื่น ๆ ด้วย เช่น ไอน้ำ ฝุ่นผง หรือมวลสารที่ล่องลอยในบริเวณที่เครื่องอัดลมทํางานอยู่ดังนั้นจึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอามวลสารที่ไม่ต้องการเหล่านี้ออกจากลมอัดเพราะมวลสารและสิ่งสกปรกต่าง ๆนี้จะเป็นตัวที่ทําให้อุปกรณ์ทํางานของระบบนิวแมติกเสียหาย ทํางานติดขัดอายุการใช้งานสั้นลง



ลมอัดไหลเข้ามาทางด้านท่อลมเข้าและไหลผ่านลงไปที่ตัวกรองลมอัดที่ไหลเข้ามาจะมีความดันสูงและต้องผ่านแผ่นกะบัง บังคับการไหลทําให้เกิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ของลมอัด ไปปะทะกับผนังของลูกถ้วย อากาศที่สะอาดก็จะไหลผ่านไส้กรองออกทางด้านท่อลมออก และสิ่งสกปรกก็จะติดอยู่ที่ไส้กรอง ส่วนละอองน้ำที่ติดอยู่ผนังของลูกถ้วยเมื่อสะสมกันมาก ๆ ก็จะไหลมารวมกันไปอยู่ ด้านล่างของชุดกรองอากาศ ที่ด้านล่างของลูกถ้วยจะมีขีดจํากัดปริมาณละอองน้ำไม่ให้สูงเกินไปการระบายละอองน้ำออกสามารถทําได้ โดยการระบายน้ำออกด้วยการหมุนสกรูที่ใต้ลูกถ้วยหรือติดตั้งตัวระบายน้ำอัตโนมัติที่ลูกถ้วยก็ได้

เกจวัดความดันลมอัด (Pressure Gauge) เกจวัดความดันลมอัด ใช้สําหรับวัดความดันในวงจรนิวแมติก ปกติจะติดตั้งอยู่ทางออกของตัวควบคุมความดันลมอัดเกจวัดดันลมอัด จะเป็นแบบท่อสปริงรูปทรงกลมโค้งงอในแนวรัศมีและมีพื้นที่หน้าตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นท่อกลวงส่วนปลายข้างหนึ่งยึดติดกับช่องที่ให้ความดันลมอัดผ่านเข้ามาภายในขดสปริงเมื่อมีแรงดันของลมท่อสปริงรูปทรงกลม จึงยืดออกให้ท่อตรงส่วนปลายอีกด้านของท่อสปริงจะยึดติดกับชุดกลไกต่อระหว่างท่อสปริงกับเฟืองเข็ม กลไกเหล่านี้จะเพิ่มตัวแสดงการเคลื่อนไหวของท่อสปริงขดหรือบอกความดันภายในระบบนั่นเอง



อุปกรณ์ควบคุมความดัน (Compressed air regulator)

มีหน้าที่ในการปรับความดันใช้งานให้คงที่และเหมาะสมกับความดันของระบบและปรับความดันต้นทางให้สูงกว่าความดันปลายทาง

แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ

• ชนิดไม่มีการระบายความดันออกสู่บรรยากาศ

• ชนิดมีการระบายความดันออกสู่บรรยากาศ

เมื่อความดันลมออกมาจากอุปกรณ์กรองลมอัด จะต่อเข้าวาล์วควบคุมความดัน เพื่อทีจะปรับความดันลมให้มีความดันคงที่อยู่ที่ ความดันลมจะผ่านบ่าวาล์วและไหลออกที่ทางออกเพื่อใช้งานต่อไป บริเวณช่องทางออกของลมอัดจะมีช่องออริฟีช (Orifice) ที่ต่อระหว่างช่องทางออกกับห้องใต้แผ่นไดอะแฟรม ถ้าความดันลมที่ออกนี้มีความดันสูงกว่าค่าของสปริง (ตัวบน) ก็จะดันแผ่นไดอะแฟรมให้ยกขึ้น เป็นผลให้ก้านของพอพเพตซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับชุดของแผ่นไดอะแฟรมถูกยกขึ้นตาม ทำให้บ่าวาล์วปิดทางลมที่เข้าวาล์ว ดังนั้น ค่าของสปริงจะเป็นตัวกำหนดค่าความดันลมที่ออกจากวาล์วนั้นเอง



อุปกรณ์ควบคุมความดันลม Air Regulator

อุปกรณ์เติมน้ำมันหล่อลื่น (Air Lubricator)

ชุดน้ำมันหล่อลื่นจะมีหน้าที่เป็นตัวจ่ายสารหล่อลื่นให้กับอุปกรณ์นิวแมติกโดยจะปนไปกับลมอัดในการใช้งาน เพื่อลดการสึกหรอและความฝืดของอุปกรณ์ต่าง ๆเช่น วาล์วข้อต่อลูกสูบ เป็นต้น ชุดน้ำมันหล่อลื่นจะอาศัยหลักการของช่องแคบที่ความดันแตกต่างกันคือความเร็วของลมอัดที่ไหลผ่านช่องแคบมีความเร็วสูงจึงทําให้เกิดการดูดน้ำมันขึ้นมาผสมกับลมอัดที่ไหลผ่านเปนละอองน้ำมันหล่อลื่นเพื่อนําไปใช้ในระบบหล่อลื่นอุปกรณ์ต่าง ๆต่อไป ในป้จจุบันส่วนมากอุปกรณ์นิวแมติกจะใช้วัสดุเทอร์โมพลาสติก(Thermopastic) แทนวัสดุชิ้นเก่าทําให้ชุดน้ำมันหล่อลื่นไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในปัจจุบัน และระบบการผลิตในอุตสาหกรรมบางประเภทไม่จําเป็นต้องใช้การหล่อลื่น เช่น อุตสาหกรรมผลิตอาหารและยา อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์






อ่านบทความทั้งหมด