วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย

By Fai



 ระยะนี้มีคนมาคุยเรื่อง Appreciative Inquiry (AI) กันมากขึ้นครับ จะว่าไป AI มีจิ๊กซอว์อยู่ 11 ตัวครับ เรามาเริ่มต่อจิ๊กซอว์กันจริงๆ ทีละตัวเลยนะครับ

จิ๊กซอว์ตัวแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า AI คือ กระบวนการการค้นหาสิ่งดีๆ “ร่วมกัน” ครับ โดยเชื่อว่าทุกคน ทุกระบบทุกองค์กรมีเรื่องดีๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ระบบเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ “ซ่อนเร้นอยู่”ชิ้นที่สองต้องรู้จักวงจร AI ครับคือ AI ประกอบด้วยวงจรดังนี้ครับ คือกำหนดเรื่องที่จะทำก่อน เราเรียกว่า Topic Choice (โทปิก ช๊อยส์) ตั้งคำถามเพื่อค้นหาเรื่องราวดีๆ นี่เรียกว่า Discovery (ดิสโค๊ฟเวอรี่ย์) ครับ เมื่อเราค้นพบเรื่องราวดีๆ แล้ว เราต้องนำมาหา Positive Core โพซิทีฟ คอร์ จากนั้นก็นำมาคิดค้นหา ฝัน หรือสิ่งดีๆ ที่น่าจะเกิดขึ้น (Dream ดรีม) เมื่อฝันแล้ว ต้องมาหาหนทางสร้างสรรค์สิ่งดีๆร่วมกัน นั่นคือ Design (ดีไซน์) ต่อมาก็นำมาทำฝันให้เป็นจริงคือ Destiny (เดสตินี่) ครับ


จิ๊กซอว์ตัวที่สอง ผมยกตัวอย่างเรื่อง “ความชรา หรือ Aging เอจจิ้ง” โจทย์คือลูกศิษย์ผมต้องการทำ AI เกี่ยวกับเรื่องความชรา เอาหล่ะ เราจะทำยังไงดี ก็เริ่มจากมาตีโจทย์ก่อน หรือสร้าง Topic Choice ที่สุดเราตกลงกันพัฒนาหัวข้อ “ชราอย่างสง่า” Positive Aging โพสิทีฟ เอจจิ้ง ครับ ตรงนี้ล่ะจะเห็นว่าเวลาเราตั้ง Topic Choice แม้ว่าเราจะเริ่มจากอะไรก็ตามลบ หรือเฉยๆ ทาง AI เราจะสร้าง Topic Choice ในเชิงบวกครับ ฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องพนักงานไม่ค่อยตั้งใจทำงาน เราจะตั้งชื่อเชิงบวกเป็น Positive Employee Engagement ครับ คืออะไรที่เป็นบวกๆ

แล้วเราทำไงต่อ เราต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายครับ จะศึกษาจากใคร จริงๆ ได้ทุกคน เชิญทุกคนมามีส่วนร่วมก็ได้ แต่เราไม่มีเวลามาก กรณีนี้ พิเศษหน่อย เราจะพบความชราอย่างสง่าได้ที่ไหน ก็ต้องบอกว่า คนที่มีความชราอย่างสง่าอยู่แล้ว เราจึงกำหนดแนวทางการทำงานไว้คือจะเลือกทำ Discovery กับคนที่ “ชราอย่างสง่า” ที่เราพบหลักฐานเชิงประจักษ์ คือคนที่เขาชราแล้วสง่าจริงๆ

จิ๊กซอว์ตัวที่สาม ลูกศิษย์ผมก็เริ่มค้นหา เขาเจอที่โรงพยาบาลคนหนึ่ง เป็นคนชราที่อายุมากแล้ว แต่ดูสุขภาพจิตดีมาก และถึงจะเป็นเบาหวาน ก็คุมน้ำตาลได้ดีมากๆมาหลายปีแล้ว หมอไม่หนักใจเลย ก็เจอแล้ว “สิ่งดีๆ ที่ซ่อนเร้น” อยู่ในระบบ เขาก็เข้าไปถามด้วยคำถามดี ก็คือ “พี่พี่ดูดีมากๆ สุขภาพจิตดี คุมน้ำตาลก็ดี มีเคล็ดลับอะไรคะ” สุภาพสตรีท่านนั้นตอบว่า “ดิฉันไม่ค่อยเครียดค่ะ เพราะวางแผนการเงินล่วงหน้าก่อนเกษียณสิบปี” 

นี่ไงคำตอบแรก คนที่สอง นี่ผมยกตัวอย่าง มีคุณลุงท่านหนึ่งอายุ 70 กว่าแล้วดูดีมากๆ เวลามาที่ไหน จะมีคนล้อมหน้าล้อมหลังคุยด้วยอย่างมีความสุข เป็นคนสูงอายุที่ผมอยากเรียกว่ายังทันสมัย อ่านหนังสือที่ผมอ่าน เรียกว่ายังตามความรู้ ความคิดใหม่ๆอยู่เสมอ พอผมถามว่า “คุณลุงมีเคล๊ดลับอะไร” ท่านบอกว่า “สมัยเด็กๆ เคยเห็นคนแก่มาเยอะ บางคนไม่อยากเข้าไกล้ เพราะเอาแต่ใจ บางคนเสียงดัง ผมเลยคิดว่า ลำพังคนแก่ก็ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าไกล้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าผมแก่ ผมตั้งใจเลยว่าจะทำตัวเองให้ดูดี มีความรู้ทันโลก จะได้น่าเข้าไกล้”

นี่แหล่ะครับ เริ่มเห็นไหมครับ คุณก็ลองถามไปเรื่อยๆ สัก 30 คน หรือมากกว่านั้นก็ได้ นี่ผมทำให้ดูสองคนก่อน


จิ๊กซอว์ตัวที่สี่ เราจะหา Positive Core หรือจุดร่วมของ Discovery ครับ คืออะไรครับ ผมก็ถามลูกศิษย์ผม ว่า “สองเหตุการณ์นี้ มีอะไรเหมือนๆกัน” เขาตอบว่า “อ้อ ก็มีการตั้งเป้าหมาย” คุณว่าใช่ไหม คนชราอย่างสง่าสองท่านนี้ มีการ “ตั้งเป้าหมาย” เรื่องการแก่ของตนเองครับ (ถ้าคุณถาม 30 คนหรือมากกว่า จะเจอมากกว่านี้ครับ) คุณลองสังเกตดูสิครับ พอคนชราทั้งสองตั้งเป้าหมายล่วงหน้า เป้าหมายทำให้เกิดการเตรียมความพร้อมครับ เมื่อวันนั้นมาถึงก็กลายเป็นคนชราที่สง่า น่าคบหา น่าดูเป็นแบบอย่างครับ 

จิ๊กซอว์ตัวที่ห้า เรายกระดับมาวาดฝันร่วมกัน หรือ Dream ครับ ด้วยการตั้งคำถามว่า สิ่งที่ควรจะเป็นในองค์กรของเราคืออะไร สมมติว่านี่เป็นเหตุการณ์ในสาธารณสุขแห่งหนึ่ง เราก็ร่วมกันวาดฝันว่า “คนชราทุกคนที่นี่ควรเป็นคนชราที่สง่า “เอาหล่ะครับ พอแก่ไปที่นี่จะมีแต่คนชรา ที่ให้ความสุขและเป็นแบบอย่าง เรียกว่าดูดีทั้งร่างกายและจิตใจไปเลย

จิ๊กซอว์ตัวที่หก เมื่อได้ฝันแล้ว เราก็มาค้นหาวิธีการที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง หรือ Design ผมก็ถามลูกศิษย์ว่า เขาวางแผนด้วยวิธีการอะไร เขาก็บอกว่า เขาเคยทำกระบวนการกลุ่ม เอาเลยครับ ขั้นวางแผนถนัดวิธีอะไรก็เอาอย่างนั้น จะกลยุทธ์ จะคุยกันเฉยๆ Balanced Scorecard ตรงนี้แล้วแต่คุณถนัด เช่นถ้าใช้กระบวนการกลุ่มก็อาจฉายภาพนี้แล้วเชิญพวกเขา “กำหนดเป้าหมายความชรา” กันครับ เมื่อทุกคนทำได้แล้วก็อาจนัดหมายมาเจอกัน เพื่อเล่าความก้าวหน้าว่า กำหนดแล้วไปทำอะไรกันบ้าง

จิ๊กซอว์ตัวที่เจ็ด ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เรียกว่าการทำให้เกิดจริง หรือ Destiny ประมาณว่าทำจริง แต่ก่อนทำต้องมาตั้งคำถามกันก่อนครับ จะให้ใครทำ ตรงนี้สำคัญ ไม่ใช่ใครก็ได้ คุณต้องหาคนที่ “ฟิน” (ภาษาวัยรุ่น คือประมาณว่าชอบมากๆ สุขมากๆ) กับเรื่องนี้จริงๆ ถ้าเป็นกลุ่ม AI เราจะแนะนำพวก ผู้เชื่อมต่อ นักขาย หรือผู้สั่งสมความรู้ ครับ (ดูบันทึกที่เกี่ยวข้องข้างล่างครับ) ถ้าเลือกคนถูก งานคุณจะขยายไปไกล และเหนื่อยน้อยลงครับ 

จิ๊กซอว์ตัวที่แปด เป็นช่วง Destiny ครับ แต่เป็นการตั้งคำถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่ามันเริ่มดีแล้ว ตรงนี้คือการถามหา KPI นั่นเอง แต่เป็นคำถามที่นุ่มนวลกว่า ตรงนี้ก็แล้วแต่ความพร้อม เช่นอาจดูที่ “การตั้งเป้าหมาย” ว่าทุกคนได้ตั้งเป้าหมายหรือยัง จากนั้นอาจวัด “น้ำตาล” ประกอบ ว่าดูแลตนเองได้ดีไหม หรือมีอะไรบวกๆ เช่นการเตรียมตัวด้านการเงิน จากที่ไม่เคยทำอะไรเลย เป็นต้น

จิ๊กซอว์ตัวที่เก้า ตรงนี้ก็สำคัญครับ คือการตั้งคำถามว่า “แล้วจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร” นี่แหละครับคำถามสำคัญ เพราะสังเกตไหมครับว่าหลายครั้งเราตั้งใจทำอะไรดีๆ แต่เรามักถูกต่อต้าน ก็ใจเย็นครับ คุณต้องมีกลยุทธ์หน่อย ผมแนะนำเรื่อง The Tipping Point และเรื่อง 10-10-10 ครับ ช่วยได้มาก ลองดูในบันทึกที่เกี่ยวข้องข้าล่างนี้นะครับ

จิ๊กซอว์ตัวที่สิบ นี่คือการตั้งคำถามว่าเราจะเรียนรู้อย่างไร สังเกตไหมครับ ว่าเวลาทำอะไรไป เรียนอะไรไป ตอนเรียนก็เฮ น่าตื่นเต้น พอเอาไปใช้ แป็กทุกที อย่าตกใจเรามีวิธีครับ แนะนำง่ายๆ คือหลังเริ่มไปแล้ว ค่อยๆสังเกตว่าอะไร Work ไม่ work อะไรดีก็ทำให้ดีขึ้นอะไรไม่ดีก็ตัดไปครับ เทคนิดนี้ไกล้เขียนกับ AAR (After Action Review) ครับ งานของคุณจะเนียนและดีขึ้นเรื่อยๆครับ

จิ๊กซอว์ตัวที่สิบเอ็ด หรือ "จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย" คือการทำครับ เราต้องทำไปเรื่อยๆ ระหว่างทางอาจเจอเรื่องราวดีๆ ซึ่งก็คือ Discovery นี่แหละ ก็ค้นหาแล้วต่อยอด ต่อวงจรไปเรื่อยๆ ครับ เราก็จะเห็นเรื่องดีๆ ถูกขยายดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงดีๆ ในที่สุด บางวงจรสั้นๆ บางวงจรอาจกินเวลาหลายปีครับ

สำหรับ Appreciative Inquiry แล้วจิ๊กซอว์ที่ต้องการทั้งหมดมี 11 ตัวครับ หากคุณต่อเป็น ต่อจนครบทุกตัวแล้ว คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงดีๆ ทันทีครับ หากแต่ตัวสำคัญที่สุดก็ตัวที่ 11 หรือตัวสุดท้าย นี่แหละครับ ถ้าคุณค้นพบสิ่งดีๆ แต่ไม่ขยายดี ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นหรอกครับ ลองค้นดี แล้วขยายดี คุณจะเห็นอะไรดีๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุดครับ สำหัรบชีิวิตคนเรานั้น เช่นกันผมว่าทุกคนพยายามต่อจิ๊กซอว์ชีวิตกันอยู่ครับ แต่หากอยู่กับตัวเองในปัจจุบันมากเกินไป จนลืมตั้งเป้าหมาย สำหรับช่วงชีวิตช่วงสุดท้ายของเรา เราจะขาดการเตรียมความพร้อม จนที่สุดหากเราแก่ เราอาจกลายเป็นคนน่ารำคาญ น่าเบื่อของคนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งกับตัวเอง ในทางตรงกันข้ามถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าเราจะแก่อย่างไร เราจะมีความพร้อมเพียงพอ เมื่อถึงเวลาเราจะอยู่ได้อย่างสบาย และ "แก่ได้อย่างสง่า น่าดูเป็นแบบอย่าง"ครับ
อ่านบทความทั้งหมด