วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

25 เคล็ดวิธีอายุยืน สุขภาพดีไปอีกน้านน...นาน

By Yutthawit 



หลังจากง่วนสืบค้นเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์มาให้คุณผู้อ่านอยู่นานสองนาน ก็ไปพบกับข้อมูลที่น่าตกใจเรื่องหนึ่งว่าด้วยเรื่องของอายุขัยสูงสุดของมนุษย์ จากงานวิจัยกว่า 500 ชิ้น เหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันว่า อายุขัยที่ถูกต้องของมนุษย์ควรอยู่ 120 ปีหรือมากกว่านั้น! แต่เมื่อดูจากรูปการณ์ในปัจจุบันแล้ว แนวโน้มอายุขัยของมนุษย์เรามีแต่จะสั้นลงทุกที แล้วเราจะทำยังไงให้มีอายุยืนยาว ไม่ต้องถึงร้อยสองร้อยปีหรอก แค่ยืดไปได้อีก 10 ไปก็ถือว่ายอดแล้ว


ว่าแล้วเรามาลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้กันดู แม้จะไม่มีวันรู้ได้ว่าอายุขัยของเราจะยืนยาวขึ้นอีกกี่ปี แต่อย่างน้อย ๆ สิ่งที่เห็นผลทันตาก็คือสุขภาพดีที่ตามมาแน่นอน

1. ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว
 คนที่ออกกำลังอยู่เสมอมีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลัง นอกจากนี้ ในงานศึกษาชิ้นหนึ่งยังพบว่า คนที่ออกกำลังน้อยกว่าปกติมีโอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงกว่ากลุ่มคนที่ออกกำลังเป็นประจำถึง 3 เท่า

 2. หัวเราะเข้าไว้
 การหัวเราะเป็นยาวิเศษที่ช่วยลดฮอร์โมนความเครียด และเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย นอกจากนี้ การหัวเราะยังเป็นเหมือนการออกกำลังย่อม ๆ ว่ากันว่าหากหัวเราะ 100-200 ครั้งจะเท่ากับการวิ่ง หรือพายเรือ 10 นาทีเลยทีเดียว

 3. เข้านอนช้าลง
 อ๊ะ! ฟังให้ดีก่อน จริงอยู่ว่าการนอนน้อยอาจส่งผลเสียต่อร่างกายหลาย ๆ อย่าง แต่มีงานศึกษาทางด้านจิตเวชชิ้นหนึ่งเผยว่า ระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับมนุษย์คือ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน การนอนมากกว่า 8 ชั่วโมง หรือน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันอาจส่งผลให้อัตราการตายเพิ่มสูงขึ้นได้

4. ขยันมีกิจกรรมบนเตียง
 คู่รักที่มีกิจกรรมบนเตียงร่วมกันจะดูเด็กกว่าคู่ที่ไม่ได้ทำการบ้านด้วยกันได้ถึง 7 ปี เพราะเซ็กส์จะช่วยคลายความเครียด ทำให้เรามีความสุข และนอนหลับได้สนิทยิ่งขึ้น

5. ดื่มน้ำเยอะ ๆ
เพราะร่างกายมีน้ำอยู่ถึง 55-75 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ดังนั้น อาการกระหายน้ำจึงเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยในเรื่องระบบการย่อย การดูดซึมสารอาหาร ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นช่วยขับสารพิษ และดีต่อสุขภาพโดยรวม

 6. กินกระเทียม
 กระเทียมได้ชื่อว่าเป็นยาปฏิชีวนะจากธรรมชาติ มีประโยชน์ในการขับพิษ บำรุงสุขภาพหัวใจและการไหลเวียนของเลือด นอกจากนี้ยังช่วยต่อสู้กับอาการติดเชื้อและเสริมภูมิต้านทาน อีกทั้งยังมีหลักฐานบ่งชี้ว่า กระเทียมช่วยป้องกันมะเร็งในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย สำหรับผู้ที่ไม่ชอบกระเทียมแนะนำให้กินในรูปของอาหารเสริมที่ไม่มีกลิ่น

 7.หม่ำช็อกโกแลต
 สารต้านอนุมูลอิสระและฟลาโวนอยด์ในช็อกโกแลตจะช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ และลดความเสื่อมของเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย แต่แนะนำให้เป็นดาร์กช็อกโกแลตจะดีกว่า เพราะนอกจากปริมาณแคลอรี่ที่น้อยกว่าแล้ว ดาร์กช็อกโกแลตยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มากกว่าช็อกโกแลตนมถึง 2 เท่า

 8. เลี่ยงอาหารที่มีกระบวนการเก็บรักษาที่ไม่ดี
 โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อของโบท็อกซ์ เป็นหนึ่งในสารพิษที่ร้ายแรงที่สุดจากธรรมชาติ สารชนิดนี้เกิดจากอาหารที่เก็บรักษาไม่ดีจนก่อให้เกิดแบคทีเรียชนิดหนึ่ง พบได้ในไส้กรอก เนื้อเค็ม หรือเนื้อรมควัน และน้ำผึ้งที่มีการเก็บรักษาไม่ดี นอกจากนี้ การตายจากสารโบท็อกซ์ยังอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่นำไปให้เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านความงามด้วย

9. กินผักผลไม้เยอะ ๆ
 ผักผลไม้จะช่วยยับยั้งการเกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตัน และมะเร็งบางชนิด สารอาหารในผักและผลไม้ช่วยควบคุมความดันเลือดและปริมาณคอเลสเตอรอลได้ อีกทั้งกากใยของอาหารเหล่านี้ยังส่งผลดีต่อระบบขับถ่ายด้วย

10. รักษาแผลให้สะอาด
 สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ แบคทีเรียเป็นสาเหตุของการตายที่จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ แม้แต่รอยขีดข่วนเพียงเล็กน้อยก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้นอย่ามองข้ามแผลแค่แมวข่วน หรือกระดาษบาดเสียล่ะ

 11. จิบชา
 จะชาเขียวหรือชาดำก็มีสารต้านอนุมูลอิสระและประโยชน์เท่ากัน นักวิจัยแนะว่าการดื่มชาดำหนึ่งแก้วต่อวันช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตจากอาการหัวใจวายในผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วได้ถึง 28 เปอร์เซ็นต์

12. ดื่มไวน์แดง
 งานศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า การดื่มไวน์แดงหนึ่งแก้วต่อวันจะช่วยป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจ และช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและความดันเลือดได้ด้วย เป็นข้ออ้างสำหรับการดื่มที่ฟังดูดีใช่มั้ยล่ะ

13. ล้างมือบ่อย ๆ
 ท้องร่วงเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายที่พบได้มากในแต่ละปี ดังนั้น ยามใดที่ออกไปนอกบ้านก็อย่าลืมล้างมือเสียล่ะ หากไม่สะดวก เจลล้างมือ หรือทิชชูเปียกช่วยคุณได้

 14. ตรวจเช็กร่างกายอยู่เสมอ
 สำหรับคุณสาว ๆ หมายถึงการตรวจเช็กหน้าอกของตัวเองอยู่เป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมในระยะที่ยากเกินจะรับมือ และบรรดาคุณผู้ชายควรสำรวจน้องชายของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อเตรียมรับมือกับมะเร็งอัณฑะที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพประจำปีควบคู่ไปด้วย

15. ระวังเรื่องน้ำหนัก
 กินมากเกินไปคือหนึ่งในสาเหตุของความชรา และยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และมะเร็งที่สำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี รังไข่ และเต้านมได้ด้วย ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งเผยว่า ในแต่ละปีมีอัตราการเกิดอาการหัวใจวายอันเนื่องมาจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดถึงปีละ 270,000 ราย และ 280,000 ราย จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีสาเหตุมาจากความอ้วน

 16. ไม่สูบบุหรี่
 ทุกคนรู้ดีถึงโทษของบุหรี่ บุหรี่หนึ่งมวนอาจหมายถึงอายุขัยที่สั้นลง 6 นาที ดังนั้น ยิ่งเลิกสูบได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณเท่านั้น แต่ยังเป็นการยืดอายุคนที่อยู่รอบตัวคุณด้วย

17. รู้จักผ่อนคลาย
 การผ่อนคลายช่วยลดความดันเลือด และลดความเครียดที่อาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ เทคนิคการผ่อนคลายอย่างการเล่นโยคะ และการทำสมาธิสามารถช่วยคุณได้

18. หลีกเลี่ยงแสงแดด
 การเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแสงแดดที่มากเกินไป จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนัง และยังช่วยปกป้องผิวของคุณจากฝ้า กระ จุดด่างดำ และริ้วรอยต่าง ๆ ที่เป็นตัวบ่งบอกถึงความร่วงโรย ดังนั้น ก่อนออกจากบ้าน อย่าลืมใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปทุกครั้ง

19. หนีไปอยู่ต่างจังหวัด
 คนที่อาศัยอยู่ในแถบชนบทจะมีช่วงอายุขัยที่ยาวนานกว่าคนในเมือง และจากงานศึกษาหลายชิ้นพบว่า คนเมืองที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวแบบเปิดโล่ง มีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนกว่าคนที่อาศัยอยู่ในย่านที่ถูกรายล้อมด้วยป่าคอนกรีต

20. สังสรรค์กับเพื่อน
แต่งงาน หรือเลี้ยงสัตว์ อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่แหล่งข่าวที่เชื่อได้หลายแหล่งบอกตรงกันว่า สัมพันธภาพเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันและหัวใจวายได้ ชีวิตแต่งงานจะช่วยยืดอายุขัยของผู้ชายไปอีก 7 ปี และ 3 ปีสำหรับผู้หญิง ส่วนสัตว์เลี้ยงโปรดจะช่วยให้คุณคลายเครียด ช่วยลดความดันโลหิต และยังช่วยให้ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะหัวใจวายมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นด้วย

 21. มองโลกในแง่ดี
 ผลการวิจัยพบว่าคนที่คิดบวกจะมีอายุยืนกว่า เนื่องจากการมองโลกในแง่ดีจะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับคนที่มักมองโลกในแง่ร้าย

 22. ปิดทีวี
 การใช้เวลาที่หน้าจอสี่เหลี่ยมมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ จากงานศึกษาเมื่อปี 2010 เผยว่า กลุ่มคนที่ดูทีวีมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสเสียชีวิตด้วยสาเหตุต่าง ๆ ได้มากกว่ากลุ่มที่ดูทีวีน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันถึง 46 เปอร์เซ็นต์

23. ทำกิจกรรมสันทนาการเมื่อแก่ตัวลง
 การทำสวน หรือช้อปปิ้งจะส่งผลดีต่อคุณในแง่ของการออกกำลัง นักวิจัยหลายคนบอกเอาไว้ว่า กุญแจสำคัญของความสุขก็คือการทำอะไรก็ได้ที่ชอบและรู้สึกดีกับตัวเอง

 24. ไม่หอบงานกลับไปทำที่บ้าน
 เพราะนั่นหมายถึงคุณไม่สามารถจัดการกับภาระหน้าที่ที่มีอยู่ได้ และอาจทำให้เกิดความเครียดในที่สุด คนที่เครียดจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และความเครียดยังไปบั่นทอนระบบภูมิคุ้มกันและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายอันเป็นสาเหตุของโรคและริ้วรอยต่าง ๆ อีกด้วย

25. เลือกหมอที่วางใจได้
 ว่ากันว่าผู้ป่วย 1 ใน 10 มักจะได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าคนไข้ส่วนใหญ่จะไม่ตาย แต่หากถูกหามไปส่งโรงพยาบาลคุณก็มีโอกาสเป็น 1 ใน 100 ที่อาจถูกกระตุ้นให้เสียชีวิตเร็วขึ้น และการกระตุ้นเหล่านั้นมักเกิดจากอุบัติเหตุมากกว่าเจตนา

Credit:health.kapook.com/view51365.html
อ่านบทความทั้งหมด

การทดสอบแบบไม่ทำลาย (NDT: Non Destructive Testing)

By พี่อี๊ด



เป็นกรรมวิธีการทดสอบหารอยบกพร่องหรือความผิดปกติของชิ้นงาน โดยที่ไม่ทำให้ชิ้นงานนั้นๆ เสียหาย ชิ้นงานที่มักทดสอบเป็นแนวเชื่อมหรือโลหะของถังเก็บผลิตภัณฑ์ (Aboveground storage tank) ถังอัดความดันสูง (Pressure vessel) ระบบท่อภายในโรงงาน (Process Piping) ท่อขนส่งผลิตภัณฑ์ (Transmission Pipeline) โครงสร้างเหล็ก (Steel Structure) ฯลฯ

การทดสอบโดยไม่ทำลาย (Non-Destructive Testing) หลายวิธีดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
1. การทดสอบโดยไม่ทำลายขั้นพื้นฐาน (Conventional NDT)
2. การทดสอบโดยไม่ทำลายขั้นสูง (Advance NDT)


การทดสอบโดยไม่ทำลายขั้นพื้นฐาน (Conventional NDT)

1. การทดสอบด้วยรังสี (Radiographic Test)
ใช้เพื่อตรวจหารอยบกพร่องหรือตำหนิในชิ้นงาน เช่น โพรงหรือฟองอากาศ การฝังตัวของขี้ลวดเชื่อม (Slag- Inclusion) การซึมลึกไม่เพียงพอของงานเชื่อม

 1.1 การทดสอบด้วยรังสีโดยใช้เครื่อง X-ray เหมาะกับชิ้นงานที่ต้องการภาพถ่ายที่มีความคมชัดและความไวในการตรวจสอบสูงและมีความปลอดภัยสูงสุด
1.2 การทดสอบด้วยรังสีโดยใช้สาร Selenium 75 (Se-75) คุณภาพของภาพถ่าย จะใกล้เคียงคุณภาพของภาพ ที่ได้จาก X-ray แต่เครื่องมีขนาดและน้ำหนักน้อยกว่าและเคลื่อนย้ายสะดวก เหมาะกับงานในที่คับแคบ งานที่สูงหรือพื้นที่ทำงาน ที่การใช้สารรังสีมีผลต่อระบบควบคุมอัตโนมัติของโรงงาน
1.3 การทดสอบด้วยรังสีโดยใช้สาร Iridium 192 (Ir 192) รังสีมีอำนาจทะลุทะลวงสูง เหมาะกับชิ้นงานที่มีความหนาเทียบเท่าเหล็ก 6 ม.ม. ขึ้นไป

 2. การทดสอบด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonic Test)
 คลื่นความถี่สูงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการทดสอบโดยไม่ทำลายอย่างมากมาย มีการพัฒนาตลอดเวลาและกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กับงานทดสอบ ดังนี้

 2.1 การหาความหนาวัสดุโดยใช้คลื่นความถี่สูง (Ultrasonic Thickness Measurement) ใช้หาความหนาที่เหลืออยู่ภายหลังการใช้งานของภาชนะบรรจุแรงดัน เช่น ถัง LPG, NGV, ถังบรรจุสารเคมี เนื่องจาก เมื่อถังหรืออุปกรณ์ดังกล่าวเมื่อใช้ไปนานๆ หรือถูกสารเคมีที่กัดกร่อนสูง จะบางลงจนไม่สามารถรับแรงหรือภาระต่างๆตามที่ได้ออกแบบไว้ ณตอนเริ่มสร้างได้
 2.2 การหาความสมบูรณ์ของโลหะโดยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonic Flaw Detector) เป็นการใช้คลื่นความถี่สูง ในการตรวจความสมบูรณ์ของเนื้อโลหะภายหลังการขึ้นรูปด้วยการเชื่อม (Welding) การหล่อ (Casting, foundry) ของถังและเครื่องจักรอุปกรณ์ สามารถตรวจหาตำหนิที่มีลักษณะระนาบ (Planar Defect) เช่น การหลอมละลายไม่สมบูรณ์, รอยร้าว ได้ดี

 3.การทดสอบด้วยสนามแม่เหล็ก (Magnetic Particle Test)
เป็นการหารอยร้าวบนพื้นผิวของวัสดุที่เป็นโลหะประเภทเหล็ก โดยอาศัยการเหนี่ยวนำจากไฟฟ้ากระแสตรง (DC Current) หรือไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Current) บริเวณที่จะทดสอบให้เป็นแม่เหล็ก และทำการโรยผงเหล็กย้อมสีขนาดเล็กลงบนบริเวณที่ทดสอบ หากมีรอยแตกร้าวขนาดเล็กบนผิวชิ้นงาน จะมีสนามแม่เหล็กรั่วในบริเวณดังกล่าวและดึงดูดผงเหล็กให้เกาะกันเป็นแนวเส้นที่เห็นได้อย่างเด่นชัด โดยมีแบบเห็นด้วยตาเปล่าและแบบใช้แสง Black Light

 4. การทดสอบด้วยสารแทรกซึม (Penetrant Test) เป็นการหารอยแตกร้าวบนพื้นผิวทุกชนิดที่ ผิวหน้าเรียบ ไม่เป็นรูพรุน เหมาะกับการตรวจรอยแตกร้าวของภาชนะแรงดันหรือสารเคมีที่ไม่ได้ทำจากเหล็กคาร์บอน (Ferrous Steel) เช่น ถังสเตนเลส ฯลฯ การทดสอบอาศัยหลักการทาหรือพ่น ของเหลวย้อมสีที่มีคุณสมบัติแทรกซึมเข้าไปในรอยร้าวหรือรูเล็กๆ ได้ดี จากนั้นจะใช้สารเคมีหรือน้ำยาที่มีคุณลักษณะคล้ายกระดาษซับ โรยบริเวณที่จะทำการการทดสอบ หากมีรอยแตกร้าวจะเกิดเป็นเส้นหรือแนวให้เห็นอย่างเด่นชัด

 5. การทดสอบหาส่วนผสมทางเคมี (Positive Material Identification Test) เป็นการตรวจสอบเพื่อบอกชนิดส่วนประกอบทางเคมี (Chemical Composition) ของวัสดุ ด้วยเทคนิค X-ray Fluorescence Spectroscopy

 6. การทดสอบหารอยรั่วในวัสดุเคลือบผิว (Holiday Detector/Pin Hole Test) สอบเพื่อหารอยรั่วหรือความไม่สมบูรณ์ของการทาสี เคลือบผิวเทป (Coating) ฯลฯ บนชิ้นงาน ซึ่งอาจเป็นผลทำให้น้ำและความชื้นซึมผ่านผิวเคลือบนั้นและเกิดสนิมได้

 7. การทดสอบหาค่าความแข็ง (Hardness Test) เป็นการทดสอบความแข็งของโลหะภายหลังการแปรรูปเพื่อประเมินสภาพการใช้งานของชิ้นงาน

 8. การทดสอบด้วยวิธีสุญญากาศ (Vacuum Test) เป็นวิธีการทดสอบหาจุดรั่วซึมของพื้นผิว สามารถทดสอบหาการรั่วซึมได้ทั้งพื้นถัง หลังคาถังเก็บผลิตภัณฑ์ (Storage Tank)

 9. การทดสอบหาค่าความเป็นแม่เหล็ก (Magnetic field and permeability measurements) ด้วยเครื่อง Magnetoscop เพื่อใช้ตรวจสอบคุณสมบัติการเหนี่ยวนำแม่เหล็กของโลหะ เช่น Stainless 304 H

10 การทดสอบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของโลหะ (Replica Test) ใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุความเสียหายของวัสดุอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะทุกชนิด

 11. การทดสอบด้วยกล้อง Video Borescope เพื่อตรวจสภาพภายในของอุปกรณ์หรือท่อ, ตรวจดูสิ่งตกค้าง สิ่งผิดปกติต่างๆโดยใช้กล้องติดปลายสายนำทางส่องเข้าไปดูสภาพภายในของอุปกรณ์หรือท่อที่ไม่สามารถมองเห็นได้โดยตรง

 12. การทดสอบด้วย Ferrite Scope เพื่อวัดปริมาณเฟอร์ไรต์ในเนื้อเหล็กกล้าไร้สนิมซึ่งมีผลต่อความต้านทานในการกัดกร่อน

 13. AE Valve Leak Test เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีด้าน Acoustic ในการตรวจหาการรั่วภายในของวาล์วโดยเฉพาะ เพื่อให้ทราบว่าวาล์วนั้นปิดสนิทหรือไม่ ทั้งนี้เป็นการลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์โดยเปล่าประโยชน์ และป้องกันการปล่อยสารที่มีอันตรายออกสู่บรรยากาศ

 14. AE Gas Leak Test เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีด้าน Acoustic ในการตรวจหาการรั่วของแก๊สออกสู่บรรยากาศ เพื่อป้อนกันการสูญเสียผลิตภัณฑ์ และความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม

 การทดสอบโดยไม่ทำลายขั้นสูง (Advance NDT) 

Top เป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากวิธีการทดสอบโดยไม่ทำลายขั้นพื้นฐานโดยใช้วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์และการประมวลผลมาประกอบ ทำให้การทดสอบเกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้ผลการทดสอบที่รวดเร็วและมีความแม่นยำมากขึ้น ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ 

1. การทดสอบโดยการรับคลื่นเสียง (Acoustic Emission Test) ตรวจสอบหาการขยายตัวของรอยบกพร่อง การรั่วหรือ การเป็นสนิมของอุปกรณ์ เช่น ถังเก็บผลิตภัณฑ์ (Aboveground storage tank), ถังอัดความดันสูง(Pressure Vessel) การทดสอบด้วย AE นี้ นับเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถทดสอบระหว่างการผลิต ทำให้ไม่ต้องหยุดการผลิต ลดขั้นตอนของงานตรวจสอบและลดปัญหามลพิษจากสารตกตะกอนภายในถัง

 2. การทดสอบโดยใช้กระแสไหลวน (Eddy Current Test)

3. Remote Field Eddy Current (REFT) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของท่อสเตนเลสและวัสดุอื่นๆที่ไม่ใช่เหล็กคาร์บอนของภาชนะแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger) และ Condenser ทีใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

 4. Magnetic Flux Leakage (MFL) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของท่อเหล็กคาร์บอนที่มีครีบระบายความร้อนของภาชนะแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger) และ Condenser ทีใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ด้วยสนามแม่เหล็ก

 5. Internal Rotating Immersion System (IRIS) การตรวจวัดความสมบูรณ์ของท่อที่ทำจากโลหะต่างๆของภาชนะแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger) และ Condenser ที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ด้วยคลื่นความถี่สูง

 6. การทดสอบด้วยคลื่นเสี่ยงความถี่สูงแบบ Phase Array (PAUT) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ในการตรวจความสมบูรณ์ของเนื้อโลหะโดยใช้หัวตรวจสอบที่มีผลึกตรวจสอบหลายๆหน่วยในหัวเดียวกัน ซึ่งทำให้การตรวจสอบครอบคลุมพื้นที่ได้มาก เร็ว และแม่นยำ สามารถแสดงผลการทดสอบได้ชัดเจน เข้าใจง่ายและเก็บบันทึกผลไว้ใช้อ้างอิงต่อไปได้กว่าแบบทั่วไป

 7. การทดสอบด้วยคลื่นเสี่ยงความถี่สูงแบบ Time of Flight Diffraction (TOFD) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ในการตรวจความสมบูรณ์ของเนื้อโลหะโดยใช้เทคโนโลยีการกระเจิงของคลื่นเสียง ซึ่งมีความแม่นยำในการประเมินหาขนาดและตำแหน่งของรอยบกพร่องมาก
อ่านบทความทั้งหมด