วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พลังของกระบวนทัศน์ (The power of paradigm)

จากแนวคิดเรื่องการบริหารความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ก็ทำให้เกิดการพูดคุยกันภายในทีมงานถึงภาพที่แนบมากับบทความว่าเห็นเป็นภาพอะไร จริงๆแล้วภาพนี้สอนอะไรเราหลายอย่างนะเพียงแต่พี่ใช้วิธีการที่ต่างจากวิธีการดั้งเดิม ผลที่ได้ก็เลยค่อนข้างเป็นอิสระเลยไม่เข้าเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เราลองมาดูภาพที่แนบมากับบทความนี้กันอีกที เราจะเห็นว่าคราวนี้มีสองรูป ถ้าคนเห็นครั้งแรกจะบอกได้ง่ายว่ารูปทางซ้ายมือเป็นรูปหญิงสาว ส่วนรูปทางขวามือเป็นรูปหญิงชรา (จากคำตอบที่พวกเราให้มากับบทความที่แล้ว ส่วนใหญ่พวกเราก็จะเห็นรูปทางขวามือเป็นคนชรากันมาก)
มีอาจารย์ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งได้ทำการแบ่งนักศึกษาออกเป็นสองกลุ่มอยู่คนละห้อง กลุ่มแรกได้ภาพทางซ้ายมือและกลุ่มที่สองได้ภาพทางขวามือ ให้นักศึกษาแต่ละคนดูภาพแค่ช่วงเวลาที่สั้นมากๆไม่เกิน 10 วินาทีต่อคน จากนั้นนำนักศึกษาทั้งสองกลุ่มกลับมารวมกันในห้องเดียว จากนั้นอาจารย์ก็เอาเฉพาะภาพทางขวามือแสดงบนกระดานให้พวกนักศึกษาดูและให้พวกนักศึกษาอธิบายสิ่งที่เห็น จะพบว่าส่วนใหญ่ของนักศึกษากลุ่มแรกที่เห็นภาพหญิงสาวในรูปทางซ้ายมือมาก่อนจะมีแนวโน้มที่เห็นภาพทางขวามือเป็นภาพของหญิงสาว ในขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่ของกลุ่มที่สองเห็นภาพทางขวามือมาก่อนยังคงมีแนวโน้มที่จะเห็นภาพนี้เป็นภาพของหญิงชรา อาจารย์ก็เริ่มเรียกนักศึกษาจากคนละกลุ่มมาอธิบายสิ่งที่เห็นก็จะเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นเนื่องจากเห็นกันคนละแบบ ต่างฝ่ายต่างพยายามจะให้อีกฝ่ายยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเห็น ยิ่งถกเถียงยิ่งมั่นใจยิ่งอยากเอาชนะประกอบกับมีคนเห็นเหมือนกันบางส่วนสนับสนุนอีก จนในที่สุดมีนักศึกษาคนหนึ่งเริ่ม "ฟัง" สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายพยายามอธิบายเพื่อเอาชนะกัน เขาก็เริ่มคิดได้ว่ารูปที่อาจารย์แสดงบนกระดานนั้นสามารถเป็นได้ทั้งรูปภาพของหญิงสาว และ ภาพของหญิงชรา จึงบอกเพื่อนๆที่กำลังเถียงกันทำให้การถกเถียงเริ่มยุติ ทุกคนเริ่มเห็นในสิ่งเดียวกัน

พวกเราจะเห็นว่าประสบการณ์ที่พวกเรามีต่างกันในอดีตนั้นมีผลต่อการสร้างกระบวนทัศน์ของเรา ซึ่งก็ได้แก่ทัศนคติในการตีความและตอบสนองต่อสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตของพวกเราโดยใช้ประสบการณ์ชีวิตเป็นฐานในการตัดสินใจนั่นเอง จากตัวอย่างข้างบนเพียงแค่เวลา 10 วินาทีที่เราเห็นภาพดังกล่าวยังมีผลต่อการมองภาพที่ต่างกันขนาดนี้ แล้วในชีวิตจริงของพวกเรา เรามีประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาตั้งแต่เราเกิดได้รับอิทธิพลที่แตกต่างกันจาก โรงเรียน ครอบครัว เพื่อน ที่ทำงานเก่า เป็นต้น ประสบการณ์ในชีวิตที่ต่างกันนี้เองจึงทำให้พวกเรามีมุมมองในเรื่องเดียวกันที่ต่างกันและมีพฤติกรรมการตอบสนองต่อสถานการณ์เดียวกันต่างกัน แต่ถามว่าใครถูกใครผิดก็คงยากเพราะทุกคนถูกหมดเนื่องจากมีเหตุผลของตนเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะบริหารจัดการความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นก็ง่ายๆ แค่เราเปิดใจรับฟังเหตุผลของกันและกัน อธิบายกันด้วยทัศนคติที่ดี พยายามทำความเข้าใจอีกฝ่าย ท้ายที่สุดเราก็จะเห็นความจริงทั้งสองด้านและหาข้อสรุปร่วมกันได้ในที่สุด

พี่ก็ขอชวนน้องๆมีประสบการณ์ที่คล้ายๆกับตัวอย่างข้างบนเข้ามาแบ่งปันเรื่องราวดีๆให้เพื่อนๆ ในส่วนของความคิดเห็นในบทความนี้ได้ครับ
อ่านบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความหมายของสัญลักษณ์ iHears

ว่าจะเขียนเรื่องนี้หลายต่อครั้งหลายครั้งก็ไม่มีโอกาสเขียนซักที ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจหรอกนะแต่พี่ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรให้มันออกมาลงตัวที่สุด แล้ววันที่ต้องอธิบายก็มาถึง (27 มกราคม 2554) แต่ที่น่าแปลกก็คือ เป็นการอธิบายที่บริษัทแม่ของโซลเวย์ต่อหน้าคนต่างชาติระดับผู้บริหารมากกว่า 50 คน จริงๆแล้วทุกคนที่เข้าประชุมต้องส่งรูปที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำไปก่อนจะเริ่มประชุมและมีไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสอธิบาย ส่วนมากต้องกึ่งบังคับให้อธิบาย ซึ่งคำอธิบายก็จะสั้นๆเพราะส่วนใหญ่จะเอารูปผู้นำ เช่น ผู้นำของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น พี่เลยขอผู้จัดงานอธิบายสัญลักษณ์ของพวกเราเพราะพี่รู้สึกผิด ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่แทนพวกเราในการนำเสนอผลงานที่พวกเราอุตสาห์คิดร่วมกัน ซึ่งพอพี่ขออธิบาย ผู้จัดงานก็แปลกใจมากเพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากจะพูด เขาเลยจัดให้พี่พูดหน้าเวที เป็นส่วนเปิดงานก่อนที่ผู้บริหารระดับสูงจะนำเสนอข้อมูล

พี่อยากแบ่งปันสิ่งที่พี่พูดในวันนั้นให้พวกเราได้ฟังดังนี้
สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นผู้นำที่ผมนำเสนอนั้นต่างจากสัญลักษณ์ที่ท่านอื่นๆส่งมา เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาหลังจากการพูดคุยกับทีมงาน สิ่งนี้อาจไม่สื่อความหมายที่ลึกซึ้งกับคนทั่วไปแต่มีความหมายสำหรับทีมงาน ผมขออธิบายส่วนต่างๆดังนี้

ส่วนแรก อักษร iHears มาจากการรวบรวมข้อเสนอของทีมงานที่อยากทำให้วิธีการทำงานดังกล่าวเกิดขึ้นในองค์กร

I = Innovation เราเป็นทีมงานที่ทำงานแบบสร้างสรร มีศิลปะในการทำงาน พัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเชิงนวัตกรรม
H = Home เราทำงานในบรรยากาศแบบพี่น้อง พูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย
E = Ethic มีจริยธรรมในการทำงาน ทำงานแบบโปร่งใส ตรงไปตรงมา
A = Attitude มีทัศนคติเชิงบวกต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน
R = Responsible Care รับผิดชอบต่อการปฏิบัติงาน ตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคม ในด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และ คุณภาพ
S = Synergy ทำงานเป็นทีมงานที่เกื้อกูลกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เสริมสร้างการเติบโตด้านองค์ความรู้และทักษะต่างๆไปด้วยกัน

ส่วนที่สอง รูปแมลงที่หลายๆคนแปลกใจว่าคือแมลงอะไร สิ่งนี้ก็มาจากการเสนอของเพื่อนร่วมงานที่พบว่ามีแมลงประเภทหนึ่งที่สามารถผลิตไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ได้เอง และจะใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ผลิตได้นี้ป้องกันตัวเองจากศัตรู แมลงนี้มีชื่อเรียกว่า bombardier beetle ซึ่งก็เป็นตัวแทนของ กระบวนการผลิตที่พวกเราทำงานอยู่ และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน พวกเราสามารถผลิตไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ที่ขับเคลื่อนจากองค์ความรู้ และวัฒนธรรมองค์กร iHears

ส่วนที่สาม รูปสัญลักษณ์บริษัท Apple ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง มีแผนการดำเนินงานที่ทันสมัย มีขีดความสามรถเชิงการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมที่สูง ที่สำคัญเป็นการนำสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่แฝงความสนุกสนานในการทำงาน บางคนก็อยากได้ผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้เน้นเรื่องราคาแต่เน้นเรื่องเทคโนโลยีและความแตกต่างเป็นหลัก

องค์ประกอบทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นบ่งบอกถึงคุณลักษณะของทีมงานของเรา ว่าเป็นทีมงานของคนรุ่นใหม่ที่มีขีดความสามรถเชิงการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมที่สูง มีความสนุกสนานในการทำงาน แน่นอนว่ามีความเชี่ยวชาญในการผลิตไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำงานด้วยวัฒนธรรมองค์กร iHears ร่วมกัน

ท้ายที่สุดเราเน้นว่า Work with iHears นั้นต้องเกิดขึ้นจริง เปิดใจรับฟังพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง

พออธิบายจบก็ได้รับเสียงปรบมืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนั้นพี่ก็นึกถึงพวกเราทุกคนและอยากให้เสียงปรบมือนี้ดังถึงพวกเราทุกคนเช่นกัน เพราะสื่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของเราทุกคน ก่อนลงจากเวที ก็มีคนถามคำถามว่าทำไม H ต้องเป็นอักษรตัวเดียวที่เป็นตัวใหญ่ และ iHears ทำไมมี s ซึ่งผิดหลักไวยกรณ์ พี่ก็ตอบทันทีแบบใช้ความรู้สึกและคิดว่าก็น่าจะเป็นความรู้สึกร่วมกันของพวกเราทุกคนเช่นกัน

พี่ก็ตอบคำถามแรกว่าที่ H ตัวใหญ่เพราะเราเน้นการทำงานแบบ เป็นครอบครัว เป็นพี่น้อง ทุกคนตื่นมาแล้วอยากมาทำงานอยากมาเจอพี่ๆน้องๆ เหมือนเรามีบ้านหลังที่สอง และ ที่สำคัญเราปรึกษากันได้ทุกเรื่อง เมื่อเป็นครอบครัวเดียวกัน คงไม่มีใครอยากจะออกจากครอบครัวของเราและทุกคนก็หวังดีต่อสมาชิก อยากเห็นครอบครัวเจิญเติบโตร่วมกัน

คำถามที่สอง ที่ผิดหลักไวยกรณ์นั้น จริงๆแล้วเราไม่อยากจะทิ้งข้อเสนอที่เพื่อนๆนำเสนอมาในแง่การทำงานเป็นทีม (S = Synergy) เราก็ต้องเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกันถึงแม้ว่าจะผิดหลักทางภาษาก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็บอกโดยนัยๆว่า พวกเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ซึ่งพวกเรายอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พวกเราคิดคือ เราจะช่วยส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกันเพื่ิอให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไรต่างหาก สิ่งนี้มีความสำคัญมากกว่าความผิดพลาดทางภาษาแน่นอน

พี่ก็โล่งใจที่สามารถตอบคำถามได้ ผู้ฟังก็ประทับใจในคำตอบจนปรบมือให้พวกเราอีกครั้ง หลังจากนั้นคนต่างชาติก็มองพวกเราต่างไปจากเดิม มีคนสนใจมาถามพี่อีก ผู้บริหารระดับสูงก็มาแสดงความยินดีกับพวกเราและบอกว่าคำอธิบายโดยเฉพาะเรื่องการทำงานแบบครอบครัวนั้น กระทบใจคนยุโรปอย่างมาก

พี่ก็อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีให้กับพวกเราทุกคน ขอบคุณที่ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรร่วมกันและหวังว่าพวกเราจะศรัทธาในวัฒนธรรมองค์กรและทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริง
อ่านบทความทั้งหมด