วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ผิดคือครู... ยอมรับและเรียนรู้จากมัน


"ผิด" คำนี้ทุกคนรู้จักมันดี..แต่ไม่มีใครชอบมันนัก ไม่มีใครยินดีที่จะกล่าวว่าตนเองได้ ทำผิดเป็นผู้ผิด และยอมรับผิด ธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไปนั้นมีความรักตนเอง และมักจะมองตนเองว่าเป็นผู้ที่ถูกต้อง เสมอและก็ด้วยธรรมชาติของมนุษย์เองอีกเช่นกันที่มักจะมองหรือแสวงหาสิ่งต่าง ๆ จากภายนอกตัว อันรวมไปถึงการมองการค้นหา การขุดคุ้ยในความผิดของผู้อื่น

 มนุษย์จะสามารถพบความสุขได้มากขึ้น หากว่าพวกเขาทั้งหลายนั้นได้เบนความสนใจจากภายนอกกลับเข้ามาดูตัวเอง ศึกษาให้เข้าใจภาวะจิตใจและความต้องการแห่งตนเอง ปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ที่มันไม่ดี ไม่ถูกต้อง ให้มันดีมันถูกต้องเสีย ยอมรับอย่างผู้กล้าหาญว่าตนเองนั้น ก็มีความผิดมีส่วนที่ไม่ดีอยู่ และความผิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นนั้นตนเองก็มีส่วนเป็นผู้กระทำ

ถ้าเราจะสังเกตุกันให้ดีแล้ว เราก็จะพบว่าในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน ส่วนมากแล้วจะมีแต่คนที่บอกตัวเองเป็นผู้ถูกและชอบวิจารณ์ว่าบุคคลอื่นทำผิด คนพวกนี้มักจะเป็นผู้รู้ไปเสียทุกอย่างในความผิดของคนอื่น แต่ในเรื่องตัวเองแล้วกลับไม่กล้ารู้ไม่กล้าดู ไม่กล้าวิจารณ์และรวมทั้งไม่พอใจ ถ้าหากมีใครสักคนมาวิจารณ์ตน


เราลองมาดูถึงปัญหาที่เป็นโรคระบาดหรือแฟชั่นของสังคมกันสักเรื่องหนึ่ง นั้นก็คือปัญหาการหย่าร้าง ปัญหาความไม่ลงรอยกัน ระหว่างสามีภรรยาไม่ว่าจะเป็นสามีหรือภรรยาต่างฝ่ายต่างก็โทษกันว่า..เหตุที่ต้องหย่าร้างอยู่ด้วยกันไม่เป็นสุข หรือที่ตนต้องประพฤติตนไม่ถูกต้องนั้นก็เป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ผิด เป็นผู้บีบบังคับตนให้ต้องทำไป ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของคนที่เห็นแก่ตนเองว่าเป็นผู้ถูกเสมอ ถ้าเราพิจารณากันให้ดีแล้ว เราก็จะรู้ได้แน่ชัดว่าคนเราจะทำผิดหรือถูกนั้น มันจะมีใครมาบังคับได้ หากไม่ใช่ของตนเองเป็นผู้บงการคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นจะมามีอิทธิพลเหนือจิตใจของเราได้อย่างไร หากว่าเราไม่ไปสนใจและเก็บมันมาคิด เรื่องที่คนอื่นเขาพูด เขาทำ มันเป็นเรื่องของเขา เขามีมันสมอง มีจิตใจและมีปากเป็นของตัวเอง เราจะไปห้ามไม่ให้เขาพูดเขาทำหรือคิดนั้นมันทำไม่ได้ แม้แต่ตัวเองยังบังคับเอาไว้ไม่ได้ แล้วยิ่งเป็นคนอื่นด้วยเราจะไปทำได้อย่างไร สิ่งที่ทำได้ก็คือตัวเรา เราต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน หากเราชนะตัวเองสามารถบังคับตัวเองได้ เราก็จะชนะผู้อื่นได้ และสามารถบังคับผู้อื่นได้เช่นกัน เหตุที่เราไม่พอใจ พยายามดิ้นรนเพื่อหาทางออกนั้น มันเป็นไปเพราะคนอื่นหรือก็ไม่ใช่ เราเองต่างหากที่เป็นผู้ทำและเมื่อมันผิดพลาดแล้ว ทำไม..ทำไมเราจึงไม่ยอมรับว่ามันผิด ทำไมต้องไปโทษสิ่งอื่นภายนอก โทษคนอื่น หรือโทษฝ่ายตรงข้าม เวลาที่เราทำ ในสิ่งนั้น ๆ ...มีใครสักคนไหม..ที่เขาร่วมรู้เห็นหรือร่วมลงมือทำด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะโทษใครกันดี ถ้าไม่โทษตัวเอง สามีภรรยาบางคู่อ้างว่าเหตุที่ต้องมีเรื่องบาดหมางกันอยู่ด้วยกันไม่ได้นั้น เป็นเพราะตนเองทนนิสัยหรือความประพฤติอันไม่ดีของฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ ถ้ารู้ว่าจะเป็นอย่างนี้จะไม่ยอมแต่งงานด้วย ฟังดูก็น่าเห็นใจจริง ๆ แต่เวลาตอนที่รักกัน จะแต่งงานกันนั้น ฉันคิดว่าคงไม่มีใครสักคนเป็นแน่ที่จะเลือกแต่งงานกับคนไม่ดี ทุกคนต่างเลือกเฟ้น สรรหากันแล้วทั้งนั้นว่า แล้วอยู่ ๆ ก็มากล่าวโทษเอาง่าย ๆ ว่าเป็นคนไม่ดี ไม่น่าอยูด้วยอย่างนี้เธอว่าใครผิด เวลาที่รักกันก็รักกันเอง เลือกรักเขาเอง ดูแล้วดูอีกว่าดี จึงได้ยอมมอบกายมอบชีวิตให้ นี้แหละที่เขาเรียกว่า "ความรักทำให้คนตาบอด" เมื่อยามที่รักกันก็พยายามมองข้ามความผิดเล็ก ๆ น้อยของฝ่ายตรงข้ามไป ทำความคิดว่ามันเป็นเรื่องเล้กน้อยที่คงแก้ไขกันได้ พยายามตบแต่งปิดบังมิให้เห็นความไม่ดีของตน สวมหน้ากากเข้าใส่กัน ทำไม..ทำไมถึงไม่คิดกันบ้างว่าการแต่งงานนั้นเป็นการที่ชีวิตสองชีวิตจะต้องมาอยู่ร่วมกัน ทำทุกอย่างร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเวลาแห่งการแก้ไขความบกพร่องหรือความประพฤติของกันและกัน แต่มันควรที่จะเป็นเวลาแห่งการสร้าง สรรค์และแสวงหาความสุขอันมั่นคงร่วมกัน

นอกจากเรื่องที่จะโทษกันเองระหว่างสามีภรรยาแล้ว บางรายก็ยังโทษบุคคลอื่นหรือเกรงกลัวบุคคลอื่นอีกด้วย กลัวการนินทาของชาวบ้าน หรือไม่ก็พลอยเป็นไปตามลมปากของชาวบ้าน ซึ่งอันที่จริงแล้วเขาน่าจะรู้ได้ว่า ลมปากของคนนั้นไม่เคยช่วยให้ใครได้ดี ส่วนมากชี้เก่ง แนะเก่ง พูดได้ดีแต่ทำไม่ได้ เวลาถึงทีของตัวเองเข้าบ้างก็ไม่ต่างกัน ต้องวิ่งร้องขอให้คนอื่นช่วย ใครล่ะที่จะดีไปกว่าตนเอง มันต้องยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เวลาจะได้ดีก็ได้ดีที่ตัวเอง เวลาเมื่อจะเสียก็เสียที่ตัวเอง มีใครบ้างที่จะมารับผิดชอบร่วมด้วย ดังนั้นเธอต้องจำเอาไว้ว่า "จะทุกข์หรือสุขนั้นอยู่ที่ใจและการกระทำของตนเอง"

ยามเมื่อเราผิดก็จะยอมรับผิดด้วยความกล้าหาญ อย่างน้อยที่สุดก็จงยอมรับผิดกับตัวเอง และหาทางปรับปรุงแก้ไขความผิดนั้นแล้ว ความถูกต้องก็จะกลับคืนมา แต่ถ้าหากความผิดนั้นมันไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย และเราต้องตกเป็นผู้ที่ต้องทนอยู่กับความผิดที่เราเองเป็นผู้ทำแล้ว เราก็ต้องถือหลักที่ว่า "เมื่อเรามีหรือทำในสิ่งที่ตนปรารถนาไม่ได้ เราก็ต้องพอใจในสิ่งที่เรามีหรือได้ทำไปแล้ว" การที่เราจะต้องอยู่กับผลแห่งความผิดนั้น เราต้องรู้จักอยู่แบบแยบคายคือรู้จักปรับปรุงทั้งภาวะจิตใจแห่งตนเองและภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะสมพอที่เราจะอยู่กับมันไปได้อย่างไม่เป็นทุกข์มากนัก และสิ่งที่ควรจดจำก็คือความผิดที่เราได้ทำมาแล้วนั้นจะต้องเป็นครูแก่เรา และเราจะไม่ทำความผิดเช่นนั้นซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง

จิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะดีจะชั่วก็อยู่ที่ใจ จงอย่าไปโทษคนอื่นเพราะจิตใจเป็นของตัวเธอเอง ใครจะมาบีบบังคับนั้นไม่ได้ ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งความจริงยังมีอีกมาก แต่รวมความแล้วก็คือ มนุษย์มักจะไม่ยอมรับว่าตนเองผิด และหากว่าเธอมีลักษณะเช่นที่ว่านี้อยู่ก็จะรีบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเสีย โดยยึดหลักการค่อยเป็นค่อยไป หมั่นฝึกจิตใจตัวเองให้ยอมรับในความบกพร่องของตนเอง มองหาความดีของบุคคลอื่นและมองข้ามความไม่ดีของบุคคลอื่นไปเสีย นำเอาความดีที่เราค้นพบเข้ามาปรับปรุงตัวเอง ถ้าเธอทำได้เช่นนี้เธอก็คงจะเป็นผู้หนึ่งที่เกิดมาแล้วได้พบความสุขความสงบ และไม่ต้องตกเป็นผู้ที่ใช้คำถามว่า "ใครผิด"

ที่มา : ธรรมและปรัชญา โดย ท่านปรมาจารย์วรธนัท อัศกุลโกวิท 1 กันยายน 2525

20 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าคนอื่นว่าเราทำผิดแล้วเราสามารถปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นมาได้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีแก่ตัวเราเอง ยังดีเสียกว่าคนอื่นมองว่าสิ่งที่เรากระทำผิดแล้วเรายังคิดว่าเราทำถูก

    ตอบลบ
  2. การที่เรากระทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าถูก! อาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกเสมอไป เพราะฉะนั้นการที่เราลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราควรคิดให้รอบคอบให้มากที่สุด จะได้เป็นผลดีต่อตัวเราและคนรอบข้าง

    ตอบลบ
  3. ทำงานมากก็ผิดผลาดมาก ทำน้อยก็ผิดผลาดน้อย
    คนเราทำงานก็ต้องมีผิดผลาดบ้าง คนที่ไม่มีความผิด ก็คือคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย
    ผิดครั้งแรกเป็นครู แต่ผิดซ้ำสองนั้นถือว่าโง่
    คนเราทำงานก็ต้องผิดผลาด แต่สิ่งสำคัญต้องจดจำความผิดนั้น
    นำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ
    ถ้าผิดซ้ำซากก็เหมือนคนที่หาบทเรียนจากประสบการณ์ไม่ได้
    (ใช้เวลาน้อยๆในการคิดว่า"ใคร"เป็นคนถูก แต่ใช้เวลาให้มากในการคิดว่า"อะไร"คือสิ่งที่ถูก

    ตอบลบ
  4. เราต้องเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนเสมอ เมื่อยอมรับที่จะอยู่กับมันหรือจะลงมือกระทำสิ่งใดๆสักอย่าง และหากว่าเกิดการผิดพลาด ไม่ควรที่จะโทษผู้อื่นในเมื่อเราได้เลือกแล้ว ทำแล้ว ตัวเราเองนั่นแหละควรจะหาข้อผิดพลาดเพื่อที่จะหาทางแก้ไข จะได้ไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

    ตอบลบ
  5. - นักรบย่อมมีบาดแผลจากการต่อสู้ เป็นธรรมดา ครับ เปรียบเหมือนกับความรัก แม้จะอกหัก แต่ก็ดีกว่ารักไม่เป็นนะครับ แฮ่ๆๆ นอกเรื่องหน่อย

    ตอบลบ
  6. ความผิดผลาดนี่แหละเป็นครูอย่างดี ควรจะรู้สึกบุญคุณของตัวเองที่ทำอะไรผิดผลาดและควรสบายใจที่ได้พบกับอาจารย์ผู้วิเศษคือความผิด จะได้ตรงกับคำว่า"เจ็บแล้วต้องจำ!"ตัวทำเองผิดเอง นี่แหละเป็นอาจารย์ผู้วิเศษเป็นGOOd EXample เป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อจะได้จดจำไว้สังวรณ์ ระวังไม่ให้ผิดผลาดต่อไป "ระวัง! อย่าประมาทนะ! อย่าให้ผิด พลาดเช่นนั้นอีกนะ!"

    ตอบลบ
  7. ช้านเองงงงง19 ธันวาคม 2554 เวลา 15:17

    กราบนมัสกรานครับท่าน ว.วชิรเมธี
    อย่างที่ท่าน ว.ได้กล่าวมาข้างนั้นเราควรที่จะพยายามรับและแก้ไขความบกพร่องของตัวเราเองให้ได้ก่อน จะดีจะชั่วจะผิดหรือจะถูกก็อยู่ที่ตัวเราทำเองทั้งนั้นไม่มีใครบังขับเราทำได้ ถ้าเราไม่ตาบอดและมีสติที่คิดว่าผิดหรือถูกในขณะที่ทำ!!!! สุดท้ายนี้ผมจะทำงานอย่างระวังโดยที่ไม่ระแวงน่ะคร๊าบ สู้ๆๆ

    ตอบลบ
  8. มิตร เฮดเดอไฮเปอร์เรดซิ่ง22 ธันวาคม 2554 เวลา 13:11

    ทุกย่อมมีผิดย่อมมีผลาดกันได้ทั้งนั้นไม่คุณจะเป็นใคร แต่เมื่อรู้ว่าทำผิดผลาดไปแล้ว รู้จักยอมรับ รู้จักปรับปรุงแก้ไขความผิดนั้นๆ การทำสิ่งใดควรย้ำคิดย้ำทำ ใคร่ตรองถึงความถูกต้อง ด้วยนะครับ

    ตอบลบ
  9. เมื่อเราทำผิดไปแล้วเราก็ไม่สามารถกลับไปแก้ไขสิ่งผิดได้ แต่ถ้าเราจะทำสิ่งต่อไปควรคิดหน้าคิดหลังก่อนจะไดไม่เกิดการผิดพลาดอีก

    ตอบลบ
  10. สิ่งที่ถูก ก็คือ สิ่งที่ถูก แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิด ก็คืด สิ่งที่ผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น

    สำคัญที่สุดคือ เราต้องแยกผิดชอบชั่วดีออกจากกันให้ได้เสียก่อน เพราะถ้าเริ่มต้นยังแยกไม่ได้ เราก็ยังไม่รู้ว่า อันไหนคือถูก และ อันไหนคือผิด

    ตอบลบ
  11. ไม่มีใครไม่เคยทำผิดหลอก...แต่จะทำยังไงเมื่อผิดแล้ว นำกลับไปแก้ไข
    ในสิ่งที่เคยผิดและไม่กลับไปทำอีก และนำบทเรียนที่เคยผิดมาใช้ในชีวิต
    จงยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นและอยู่กับเขาให้มีความสุข และจงอย่าทุกข์ เมื่อเขาทำไม่ถูกใจเรา เพราะบางทีเราเองนั่นแลที่ ตามใจตัวเองเกินไป

    ตอบลบ
  12. คนไม่เคยทำผิดคือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ทุกคนย่อมเคยทำผิดกันทั้งนั้นถ้าเราย้อนหันกับไปมองอดีตที่ผ่านมา และเราก็ต้องรู้จักการแก้ไขในสิ่งที่ผิดและคงไม่มีใครทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกและไม่เคยยอมรับผิดในสิ่งที่ตัวเองทำก็เป็นเหมือนคำสุภาษิตที่ว่า คนดีชอบแก้ไข คนจรรไรชอบแก้ตัว

    ตอบลบ
  13. มีคำพูดว่า คนไม่เคยทำผิดคือคนไม่เคยทำอะไรเลย การทำผิด...มักเกิดความสูญเสีย และความเจ็บปวด ความรู้สึกไม่ดีตามมา หากแต่สิ่งสำคัญคือ การตรึกตรองถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รู้ถึงเหตุแห่งความผิด และเกิดปัญญาที่จะไม่ก่อความผิดนั้นขึ้นอีก

    ผิดเป็นครู เราปลอบใจตัวเองว่า เราทำหรือเคยทำผิดได้ แต่อย่าผิดตลอดไป

    ตอบลบ
  14. ผิดเป็นครูน่าจะมีความหมายว่าขนาดผู้มีความรู้ยังพลาด และสาเหตุน่าจะมาจาก ความประมาท ความรีบร้อน ความไม่รู้ และอีกหลายๆสาเหตุ ดังนั้นถ้าจะลงมือทำอะไรสักอย่าง แต่ถ้ามีข้อสกิดใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นอาจไม่ถูกต้อง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะไม่ดีควรปรึกษาคนรอบข้างหลายๆคนก่อนหรือไม่ก็สอบถามผู้รู้ในเรื่องที่เราจะลงมือทำเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดแล้วนำไปปฏิบัติ ข้อผิดพลาดอาจมีน้อยหรืออาจไม่มีเลยก็ได้เพราะเราได้คิดไว้ก่อนแล้วว่า เหตุที่เราทำแบบนี้แล้วผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร ถ้าทำอย่างนี้ได้ คำพูดที่ว่า ไม่น่าเลย ก็จะไม่มีตามมา

    ตอบลบ
  15. คนเรามันก็ต้องมีอะไรที่ผิดพลาดกันบ้าง ถ้าไม่ผิดเลยก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดมันถูกต้อง

    ตอบลบ
  16. ผิดตลอดก็ไม่ดี ผิดถี่ๆก็จะแย่ ผิดโทษแม่ก็ไม่ได้
    แต่ผิดแล้วแก้ไขมันก็จะดีใช่มั๊ย เมื่อเราสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่ผิด

    ตอบลบ
  17. การดูถูกตนเองหรือประเมินตนเองในด้านลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตนเองทำสิ่งใดผิดพลาดขึ้นมา
    ความคิดเหล่านี้เองที่บั่นทอนความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ของตนเองลงเสียหมด

    จริงๆ แล้วมนุษย์มีความสามารถไม่จำกัด และสามารถจะปรับปรุง พัฒนาให้ดีขึ้นได้
    จึงไม่ควรกังวลว่าความผิดพลาดของตนเองจะทำให้คุณค่าชีวิตลดน้อยลงแต่ประการใด

    ฉะนั้นหากต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องมีความหนักแน่น ไม่ดูถูกตนเอง

    ตอบลบ
  18. ผิด!เป็นครู...แต่อย่า ผิด!หลายๆครั้งนะครับ(เดี๋ยวได้เป็น ครูใหญ่ อิอิ!!!)
    ผิดหนึ่ง พึงจดไว้ ในสมอง
    เร่งระวังผิดสอง ภายหน้า
    สามผิดเร่งคิดตรอง จงหนัก เพื่อนเอย
    ถึงสี่อีกทีห้า หกซ้ำ อภัยไฉน

    ตอบลบ
  19. ทีมงานพลิกแผ่นดิน2 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 04:37

    การที่เราจะทำผิดอะไรสักอย่างนั้น มันน่าจะเกิดจากใจเรานะครับ
    รู้ว่าผิดก็ยังทำ...หรือทำไปโดยไม่รู้ว่าผิด ความผิดป้องกันได้
    ถ้ามีความเข้าใจในสิ่งที่เราจะกระทำในขณะนั้น ถ้าไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นผิดหรือถูก
    หยุดคิดแล้วหาตัวช่วย นะครับ ช้าแต่ชัวมั่วไม่ได้ ครับพี่น้อง

    ตอบลบ
  20. ปรัชญานี้ สอนให้เรายอมรับผิด และยอมให้อภัยกับคนที่ผิดพลาด สิ่งที่ผิดไป ถึงแม้ยอมรับแล้ว มีคนให้อภัยแล้ว ถ้าไม่นำมาปรับปรุง แล้วทำผิดอีก สิ่งนี้เราน่าจะให้อภัยไหมครับ คนที่รู้ตัวว่าผิดแล้วไม่นำความผิดมาแก้ไขในสิ่งที่ทำผิดไป แต่สำหรับผมคิดว่า ผมจะให้อภัยครั้งที่สามอีก แต่ถ้าครั้งที่ 4 5 6 คงต้องทำเหมือนคุณ งัวเงียล่ะครับ

    ตอบลบ